เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แมวเป็นสัตว์ที่เราเลี้ยงเป็นเสมือนเพื่อนและสมาชิกคนหนึ่งในบ้านเลยทีเดียว โดยล่าสุดมีคำเตือนจาก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก ได้โพสต์เรื่องราวที่เป็นอุทาหรณ์คนรักแมว ซึ่งพบว่าเกิดเคสในผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งได้รับเชื้อจากแมวและทำให้เกิดอาการหนักต้องรักษาเป็นปีเลยทีเดียว

โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า “คนมีฝีในสมอง Toxoplasmosis (ท๊อกโซพลาสโมสิส)..จากการเลี้ยงแมว ผู้ป่วยชายไทยอายุ 49 ปีมาด้วยแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง 3 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ปวดหัวบ้าง ผู้ป่วยเลี้ยงแมว 2 ตัว แมวนอนในห้องนอนกับผู้ป่วย ผู้ป่วยทำความสะอาดกระบะทราย ตักอุจจาระแมวไปทิ้งโดยไม่ได้สวมถุงมือเป็นเวลา 9 เดือน แมวคงรับเชื้อโปรโตซัวชื่อ Toxoplasma (ท๊อกโซพลาสมา) จากการไปกินอุจจาระของแมวตัวอื่น เชื้อนี้จะเติบโตอยู่ในลำไส้แมว โดยแมวสบายดี ไม่ป่วย แล้วขับถ่ายออกมากับอุจจาระ คนรับเชื้อโดยผ่านทางมือเวลาใช้ที่ตักทรายที่ปนเปื้อนอุจจาระแมว แล้วไปจับอาหารใส่ปาก เชื้อนี้จะทะลุผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดไปตามอวัยวะต่างๆเช่น สมอง ตา กล้ามเนื้อ ในกรณีที่มีสภาวะภูมิคุ้มกันปกติเชื้อนี้ก็อยู่เงียบๆไม่ทำอันตรายต่อร่างกายของคน

 

 

แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยรายนี้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เชื้อโปรโตซัวตัวนี้จะแบ่งตัวทำลายเนื้อสมองเกิดเป็นฝีหลายตำแหน่ง(ดูในรูปคลื่นแม่เหล็กสมอง) ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาต้านไวรัสและยารักษาเชื้อท๊อกโซพลาสมา อาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรงดีขึ้น สามารถเดินได้เกือบปกติแล้ว ฝีในสมองก็ขนาดเล็กลง ข้อแนะนำ..หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุจจาระแมวขณะทำความสะอาดกระบะทราย ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องสวมถุงมือ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่หลังสัมผัสกับอุจจาระแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเอามือมาจับปาก จับอาหารมารับประทาน”

ทั้งนี้ นพ.มนูญ เปิดเผยถึงโพสต์ดังกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมากจึงอยากเตือนให้ทุกคนตระหนัก ว่าในอุจจาระแมวมีเชื้อที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหากรับเชื้อตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง เชื้อจะเข้าไปหลบอยู่เงียบๆ เข้าไปฝังตามอวัยวะต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นปอด สมอง ตาถึงขั้นอาจตาบอดได้ และหากวันไหนที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น ต้องทำคีโม ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะส่งผลให้เกิดโรคขึ้น โดยคนไข้ที่พบต้องรักษาเกือบปี จากที่มีฝีจำนวนมากในสมอง เดินแทบไม่ได้ เมื่อกินยาและรักษาอย่างต่อเนื่องก็เริ่มดีขึ้น กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อไปด้วย ซึ่งผู้ที่เลี้ยงแมวสามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ หรือ ใช้ถุงมือเมื่อเก็บมูลแมว เพราะเชื้อติดจากมูลซึ่งมักจะมาจากมือเรา ไม่ได้ติดจากการหายใจ ทั้งนี้ อาการลักษณะดังกล่าวพบว่าในต่างประเทศพบได้บ่อยๆ และเมืองไทยก็พบเพิ่มขึ้น

 

 

Cr. ข่าวสด