เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ปัญหารอระบาย…“ขยะติดเชื้อ” กลายเป็นปัญหาใหญ่ ในยุคสถานการณ์การระบาด โควิด-19

ข้อมูลจากกรมอนามัย รายงานว่า ประเทศไทยมีสถานพยาบาล ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัยคลินิก ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชนจำนวนมากกว่า 37,000 แห่ง มีจำนวนเตียงประมาณ 140,000 เตียง สถานพยาบาลเหล่านี้ มีการผลิตขยะติดเชื้อ ประมาณวันละ 65 ตัน เป็นมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณวันละ 20 ตัน ที่เหลือเกิดขึ้นในสถานพยาบาลในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตัน

เรียกว่าในเวลาปกติ “ขยะติดเชื้อ” ก็มีปริมาณมากอยู่แล้ว ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2563 ช่วงท่ีมีการล็อกดาวน์ ประเทศไทยมีอัตราการก่อมูลฝอยติดเชื้อราว 147,700 กิโลกรัมต่อวัน สูงขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 2,000 กิโลกรัม

ขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ หน้ากากอนามัย ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Research Institute ; TDRI) ชี้ว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนหันมาใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 800,000 ชิ้น เป็นราว 1,500,000 ชิ้น ต่อวัน ไม่รวมขยะติดเชื้ออื่นๆ เช่น ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุดป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment ; PPE) หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกัน

มีตัวอย่างที่น่าเอาอย่างในประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นพบการระบาดครั้งแรก ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย นอกจากรัฐบาลจีนจะสร้าง โรงพยาบาลเฉพาะกิจหัวเสินซาน (Huoshenshan Hospital) เสร็จภายในเวลาเพียง 10 วันเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อแล้ว จีนยังสร้างโรงกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทั้งหมดสร้างขยะมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 600% โดยมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เฉลี่ยสูงถึง 240 ตันต่อวัน

ในประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการสร้างมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 5 เท่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 คน จะมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยติดเชื้อได้ประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียง ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้ โดยมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป ที่มีต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 15 บาท และขยะอันตรายทางการแพทย์ซึ่งเป็นขยะที่เสี่ยงปนเปื้อนโรคยิ่งกว่า มีต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 50 บาท

มูลฝอยติดเชื้ออาจไม่ใช่แผลใหม่จากอุบัติโรคระบาด แต่เป็นการเปิดแผลเก่าที่มีมานานแล้ว และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรัฐบาลไทยว่าเพียงพอที่จะดูแลสังคมให้ปลอดภัยจากโรคที่อาจแทรกซ้อนมากับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหรือไม่.

ข่าวอื่นเพิ่มเติม