เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

 

โอ้ววว น้องน่าร๊ากกกกอ่าาา ช่วยพี่ รปภ.ในหมู่บ้าน จับงูด้วย

เปิดความเชื่อ “งูเขียวกินตับตุ๊กแก”

สัตว์ที่เป็นศัตรูคู่กรรมคู่เวรกัน งูเห่ากับพังพอน เจอกันที่ไหนเป็นต้องสู้ต้องใส่กันที่นั่น พอรู้กันอยู่ แต่คู่งูเขียวกับตุ๊กแก…ตอนนี้…ผมชักไม่แน่ใจ
ความรู้เดิมๆ พ่อแม่ปู่ย่าสอนกันแต่โบราณ ตุ๊กแกนั้นถ้าตับมันแก่มาก ตับจะโตคับอก มันจะร้องให้เราฟัง “ตั๊บแก” ส่งสัญญาณให้งูว่า “ตับแก่” ได้ที่ดีแล้ว ให้มาช่วยกินตับที
อาจารย์ “กาญจนาคพันธุ์” อธิบายความหมายสำนวน “คับโครง” ไว้ใน “สำนวนไทย” ว่า ในบทดอกสร้อยเก่าก็เขียนไว้
ตุ๊กเอย ตุ๊กแก ตับแก่แซ่ร้องก้องบ้าน เหมือนเตือนหูให้งูรู้อาการ น่ารำคาญแท้แท้แซ่จริง อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่ อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง…
ดอกสร้อยบทนี้ ตั้งใจเปรียบเทียบเรื่องความลับ ไม่จำเป็นก็อย่าไปขยาย…ให้อายคนอื่น
สุนทรภู่เขียนไว้ในสุภาษิตสอนหญิง “อันแม่สื่อคือปิศาจที่อาจหาญ ใครบนบานเข้าหน่อยก็พลอยโผง อย่าเชื่อนักมักตับจะคับโครง มันชักโยงอยากกินแต่สินบน”
บทนี้ตั้งใจสอนให้ระวังอย่าหลงเชื่อแม่สื่อ หลงเมื่อไหร่ก็จะลำบาก
ตามกลอนสองบทนี้ ยกเอาตับมาพูด คล้ายจะแสดงว่าสำนวน“คับโครง” นั้นมาจาก “ตับ” และถ้ามาจากตับแสดงว่ามาจากตุ๊กแก
อาจารย์กาญจนาคพันธุ์ก็ไม่แน่ใจ ความเชื่อเรื่องตุ๊กแกร้องให้งูมากินตับนี้มีมาแต่เมื่อใด แต่ตัวท่านเองก็เคยได้เห็น งูล้วงเข้าไปในคอตุ๊กแก เหมือนที่ผู้ใหญ่เล่าว่างูกำลังช่วยกินตับให้ตุ๊กแก
แต่งูไม่ได้ล้วงเข้าไปด้วยท่วงท่ามิตรไมตรี แต่ล้วงด้วยอาการรัดตุ๊กแก จึงไม่แน่ใจว่างูกำลังป้องกันตัวเอง จากการถูก ตุ๊กแกกิน…หรือเปล่า
แต่ภาพที่งูล้วงเข้าไปในปากตุ๊กแก คงจะเคยเห็นกันบ่อยๆ เหมือนภาพงูเห่าสู้กับพังพอน ผู้ใหญ่จึงใช้เป็นเรื่องเอามาร้องเป็นเพลงกล่อมเด็ก
ตุ๊กแกเอย ตัวมันลายพร้อยๆ งูเขียวตัวน้อยห้อยหัวลงมา เด็กนอนไม่หลับ กินตับเสียเถิดวา…
เด็กจะเคยเห็นภาพงูในปากตุ๊กแกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆก็คือเด็กๆกลัว ไม่ได้กลัวถูกตุ๊กแกกินตับ แต่กลัวถูกงูเขียวจะกินตับ จึงยอมหลับเสียโดยง่าย
ตุ๊กแกตับแก่ จนคับซี่โครง เป็นที่มาของสำนวนเก่า “คับโครง” ที่มีความหมายไปทาง “ลำบากใจ” ใครมีเรื่องที่ลำบาก ขยับขยายบ่ายเบี่ยงไปทางไหนไม่รอดก็พูดกันว่า “คับโครง”
เดี๋ยวนี้บ้านขยับขยายใหญ่โตจนเป็นเมือง ภาพตุ๊กแกถูกงูเขียวกินตับ เด็กรุ่นใหม่คงไม่เคยเห็น สำนวน “คับโครง” พูดไป ก็ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง
ถึงจะรู้เรื่องบ้าง แต่ก็อาจไม่เชื่อว่า ตุ๊กแกอ้าปากให้งูเขียวล้วงเข้าไปในคอ เป็นภาพของความเป็นมิตรไมตรี เหมือนที่คนโบราณว่า แต่อาจมองเป็นว่า งูเขียวกำลังเสียท่าถูกตุ๊กแกกิน
เป็นบทสุดท้ายของการต่อสู้ เหมือนงูเห่ากับพังพอน ซึ่งสุดท้ายพังพอนมักจะชนะงูเห่า มากกว่างูเห่าชนะพังพอน
ตอนเด็กๆผมเชื่อผู้ใหญ่ครับ…เคยตั้งใจฟังเสียง “ตั๊บแกๆๆ” แล้วก็เคลิ้มไปว่ามันกำลังส่งสัญญาณว่า ตับแก่ ตั้งใจให้งูเขียวช่วยมาล้วงคอเข้าไปกิน
อีกคำบอกเล่า…ผู้ใหญ่มักสอนไม่ให้เข้าไปใกล้ตุ๊กแก…ท่านมักขู่ว่า ถ้าตุ๊กแกกัดเมื่อไหร่ มันจะกัดไม่ยอมปล่อย จะปล่อยได้ก็โน่นแหละ รอให้ฟ้าผ่า
แล้วถ้าตุ๊กแกกัดได้ กว่าแผลจะหาย ก็ต้องไปกินน้ำถึงเจ็ดโอ่ง
ฤทธิ์เดชของตุ๊กแกร้าย…ถึงเพียงนั้น
ถึงวันนี้ผมโตจนแก่แล้ว กลัวตุ๊กแกน้อยลง…ได้ยินเสียงมันร้องตั๊บแกเมื่อไหร่ ก็นึกไปว่า มันน่าจะมีเรื่องคับอกคับใจ…อยากจะบอกอะไรสักอย่าง แต่ก็บอกไม่เต็มปาก
คิดไปอีกที คนทั้งบ้านทั้งเมือง ในบางรัฐบาลก็อยู่ในสถาน-การณ์เดียวกับตั๊บแก คือคิดอะไรไปได้สารพัดสารพัน แต่พูดได้คำเดียวสั้นๆ “ตั๊บแกๆ” พูดได้แค่นี้จริงๆ.
แต่!!!!!
ที่จริงแล้วตามหลักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายแบบนี้
งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Chrysopelea ornate เป็นงูลำตัวยาว ปราดเปรียว เกล็ดสีเขียวแกมเหลืองลายดำ สามารถเลื้อยไต่ไปบนกิ่งไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว หรือบางทีมันก็จะใช่การร่อนไปตามกิ่งไม้ต่างๆ มีพิษอ่อนแต่ไม่ร้ายแรงมาก ชอบหาแมลง หรือสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า ลูกนก เป็นอาหารและหากินทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่เรามักจะพบว่างูพระอินทร์นั้นมักจะกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับตุ๊กแกอยู่หลายครั้ง บางครั้งก็เป็นภาพที่งูเลื้อยเข้าไปในปากตุ๊กแก หรือตุ๊กแกงับงูอยู่ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สัตว์สองชนิดนี้เป็นอริกันเพราะพวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อทั้งคู่ หากงูเขียวที่มากินตุ๊กแกมีขนาดเล็กกว่ามันก็จะกลายเป็นเหยื่อของตุ๊กแก หากตุ๊กแกมีขนาดพอๆ กับงูเขียว พวกก็จะสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรีจนกว่าจะมีใครกลายเป็นเหยื่อในที่สุด
แต่ภาพที่คนเห็นว่าตุ๊กแกอ้าปากค้างไว้นั้นคือการระบายความร้อนในตัวของตุ๊กแก แต่เมื่อมีงูเลื้อยเข้ามาในปาก มันจะปล่อยให้งูตายใจพองูเผลอก็จะงับงูเอาไว้ในปากและสะบัดไปมาจนกว่างูจะตายนั่นเอง