เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วยชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่เกาะลิบง ตรวจสอบโครงการสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวบ้านพร้าว หลังผู้รับเหมาสร้างท่าเรือทิ้งงานมานานหลายปี

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วยคณะกรรมการ ชมรมตรังต้านโกง และผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้านเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ประมาณ 20 คน ลงพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือท่องเที่ยวบ้านพร้าว เกาะลิบง หลังจากที่ชาวบ้านเกาะลิบงและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล ร้องเรียนว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือบ้านพร้าว ซึ่งได้ดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ปี 2558 แต่มาถึงวันนี้ล่วงเวลามากว่า 5 ปี มีผลงานการก่อสร้างแค่เสาเข็ม ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเดินทางใช้ท่าเรือของชาวบ้านเกาะลิบง ซึ่งมีประชากรอยู่บนเกาะประมาณ 3.000 ครัวเรือน และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความงามทางธรรมชาติและฝูงพะยูนในแต่ละปีประมาณ 50,000 คน

            ทั้งนี้โครงการสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวบ้านพร้าว เกาะลิบง มีสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง เป็นผู้ว่าจ้าง โดยมีผู้รับเหมาเป็นเครือญาติของนักการเมืองดังของเมืองตรัง โดยที่ผ่านมาได้มีการยื่นต่อสัญญามาแล้วหลายครั้ง แต่การก่อสร้างยังไม่มีความคืบหน้า พร้อมมีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ตรัง จึงได้ลงพื้นที่รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกาะลิบงในครั้งนี้

นายศิริพงษ์ ไส ชาวบ้านเกาะลิบง ต.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองอยู่หมู่บ้านท่าเรือมา 20 กว่าปี เห็นภาพโครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นกิจวัตรประจำวันแล้วกับการทิ้งงาน เนื่องจากหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบได้มอบหมายให้ผู้รับเหมา แต่ทางผู้รับเหมาทิ้งงานไม่ก่อสร้างให้ต่อเนื่อง สร้างไม่เสร็จคาราคาซังอย่างที่เห็นอยู่ อันแรกก็มีสะพานที่ชาวบ้านได้ใช้งานกันอยู่ยังพอใช้ได้ แต่เมื่อผู้รับเหมาลงมือทำก็เอาเครื่องจักรเข้ามาทำลายผลสุดท้ายงานก็ไม่ต่อเนื่องแล้วก็ทิ้งงาน ปัญหาหลัก ๆ ที่พบคือ ท่าเรือปัญหาการเทียบเรือ การส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า วัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่นออกไปยังตลาดจะเป็นปัญหาเยอะ และการเกิดอุปสรรคในการเดินเรือในร่องน้ำมีเรือหลายลำที่ชนตอหม้อจนเรือพัง มองว่าทรัพย์สินของชาวบ้านไร้ค่าไม่มีค่าเหมือนของรัฐบาลเพราะขาดการเหลียวดูและชดเชยไม่ว่าในส่วนต่าง ๆ เมืองลิบงเปรียบเสมือนเมืองการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดตรังเอาเกาะลิบงเป็นเมืองรอง เมื่อเข้ามาจังหวัดตรังต้องรู้จักเกาะลิบง พอมาเห็นหน้าบ้านนักท่องเที่ยวต่างพากันส่ายหน้า แม้แต่ดาราที่วิ่งมาตกสะพานบอกว่าไม่มาอีกแล้วที่นี่  เหมือนกับมีขยะกองอยู่หน้าบ้านเราจะทำอย่างไร จะโชว์อย่างไรว่าในบ้านมีของดีเพียงแค่หน้าบ้านก็ไม่น่ามองแล้ว แต่หลัก ๆ แล้วขาดการติดตามจากนายจ้างขาดการกวดขันใช้กฎหมายให้เป็นจริงเป็นจังให้เหมือนทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ว่าเรื่องของชาวบ้านต้องเด็ดขาดเบ็ดเสร็จแต่ของนายทุนไม่มีปัญหาเป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป โชคดีที่ไม่มีนักท่องเที่ยวฝรั่ง ไม่อย่างนั้นคงได้ขายขี้หน้ากันหน้าดูเลยจังหวัดตรัง อยากได้ผู้นำที่มีความรับผิดชอบและจริงใจกับประชาชนทั้งนโยบายคำพูดและการกระทำใช้เม็ดเงินของประเทศไทยได้คุ้มค่าได้ประโยชน์กับประชาชนได้อย่างแท้แท้จริง เพราะประชาชนยังคงต้องดำรงชีวิตกันต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เพราะลิบงสามารถเข้าได้ทางเดียวเมื่อน้ำลง อยากให้ท่าเรือเป็นท่าเรือจริง ๆ ไม่ใช้ท่าร้าง นักการเมืองบ้านเรามีหน้าตาดีๆหลายคน มีสมองดี ๆ พยายามพัฒนาบ้านเมืองควบคู่การแข่งขันเพื่อเป็นสากลได้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้มองเห็นว่ามีท่าเรือ มีห้องน้ำ มีความปลอดภัย มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างบ้านเราเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น

ขณะที่ นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทางป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครื่องข่ายและประชาชนว่ามีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านพร้าวที่เกาะลิบงเป็นลักษณะการก่อสร้างแล้วทิ้งร้าง ทางป.ป.ช.ได้ลงพื้นที่พร้อมกับเครือข่ายลงไปดูพื้นที่จริงว่ามีลักษณะความเป็นไปเป็นมาอย่างไร ซึ่งสภาพดังกล่าวพบว่าเป็นการก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ มีเพียงการตอกเสาเข็มในทะเลเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เห็นชัดเจนว่าการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เบื้องต้นก็ต้องขอเอกสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาจจะเป็นในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาดูว่ารายละเอียดมีเหตุขัดข้องอะไรบางประการหรือไม่  ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นของจังหวัดท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกรมโยธาธิการและผังเมือง  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะเร่งรัดหางบประมาณที่จะมาก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าวได้ ซึ่งมองว่าเป็นท่าเทียบเรือหลักของพื้นที่ตำบลเกาะลิบงเพราะว่าเป็นจุดหลักในการใช้สัญจรของประชาชน การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างเกาะกับพื้นดิน และหลักๆคือการเดินทางของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะลิบง