เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังสู้กับไวรัสโควิด-19 หลายๆประเทศก็พยายามที่จะผลิตวัคซีนออกมาป้องกันเจ้ามหันตภัยไวรัสร้ายตัวนี้ แต่มันก็ไม่ใช่ง่ายเลย ในอดีตนั้นวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่เคยสามารถพัฒนาวัคซีนออกมาใช้ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 4 ปี เพราะต้องมีการลองผิดลองถูกเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆมากมาย แต่ตอนนี้ด้วย เทคโนโลยีของ Pfizer และ BioNTech ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถผลิตวัคซีนCovid-19 ที่ทรงประสิทธิภาพ ได้เป็นรายแรกๆของโลกได้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่า messenger RNA (mRNA)

ตลอดเวลา 25 ปี ที่ผ่านมา สามีภรรยามุสลิมคู่หนึ่ง ทุ่มเทพัฒนา “สารระดับโมเลกุล mRNA” อย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อต้องการใช้เป็นวัคซีนมะเร็ง ให้จงได้! แต่เมื่อ Covid-19 ระบาดไปทั่วโลก สามีภรรยาคู่นี้ จึงร่วมมือกับ Pfizer เพื่อปรับปรุงพัฒนา mRNA ที่มีอยู่แล้วให้เป็นวัคซีน Covid19 ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี นั่นเอง!!

Ugur Sahin & Oezlem Tuereci สามีภรรยา เชื้อสายอุยกูร์ตุรกี ”ซึ่งอพยพไปอยู่ในเยอรมัน” เป็นผู้ค้นพบวัคซีนนี้

ความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ (Pfizer) และไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ที่มีประสิทธิภาพกระตุ้นให้ร่างกายอาสาสมัครสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 90% ทำให้มนุษยชาติเริ่มมีความหวังว่า ความยากลำบากในการใช้ชีวิตภายใต้โรคโควิด-19 ใกล้ถึงจุดจบแล้ว

แต่ใครจะเชื่่อว่า เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ มีจุดเริ่มต้นจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่เกิดจากครอบครัวผู้อพยพ ซึ่งทั้งคู่ได้สั่งสมประสบการณ์ผ่านงานวิจัยหลายสิบปี จนทำให้วัคซีนโควิด-19 นี้เกิดขึ้นได้

ปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสนั้นจะต้องนำเอาตัวไวรัสมาดัดแปลงให้อ่อนแอไม่เป็นพิษเป็นภัย หรือนำเอาชิ้นส่วนของไวรัสมาฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้รู้จักไวรัสดังกล่าวแล้วสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งในเชิงของการผลิต antibody ที่จะทำความ “รู้จัก” ไวรัส และสกัดกั้นการทำงานของไวรัส ตลอจนการผลิตทั้ง B-cell และ T-cell เพื่อประสานงานกันในการกำจัดไวรัส และ “จดจำ” ไวรัสเอาไว้ เพื่อปกป้องร่างกายในอนาคต หากถูกคุกคามโดยไวรัสชนิดเดียวกันอีกในอนาคต กระบวนการในการพัฒนาวัคซีนจึงต้องใช้เวลาเป็นแรมปี (10-12 ปีเป็นเรื่องปกติ) และในบางกรณีก็ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนมาป้องกันได้ เช่น กรณีของโรคเอดส์ ซึ่งปัจจุบันการ “รักษา” คือการกินยาเพื่อกดการแพร่ขยายของไวรัส ที่ทำให้เป็นโรคเอดส์ คือ เชื้อไวรัส HIV ให้อยู่ที่ระดับต่ำ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อจำต้องกินยากด HIV ไปตลอดชีวิต

แต่เรื่องนี้คงต้องยกความดีความชอบให้แก่ อูกูร์ ซาฮิน (Ugur Sahin) ซีอีโอและ อุซเล็ม ตุเรชี (Oezlem Tuereci) หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของบริษัทไบโอเอ็นเทค การศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งวิทยาของทั้งคู่เน้นไปที่การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์ และจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิจัย 2 คนสวมหมวกนักธุรกิจ จัดตั้งบริษัท Ganymed Pharmaceuticals เมื่อปี 2544 เพื่อระดมทุนสนับสนุนการวิจัยให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในอีก 15 ปีต่อมา บริษัท Ganymed ถูกบริษัทแอสเทลลัส (Astellas) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 42,600 ล้านบาท

ซาฮินและตุเรชีตั้งบริษัทไบโอเอ็นเทคขึ้นมาอีกแห่งเมื่อปี 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการวิจัยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันมะเร็งให้กว้างขวางขึ้น หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า mRNA ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ทำการวิจัยเชิงลึกมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี โดย mRNA คือสารระดับโมเลกุลที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ส่งสาร ถ้าหากเราใส่สารพันธุกรรมของเชื้อโรคไปใน mRNA แล้วฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ในลักษณะของวัคซีน ร่างกายมนุษย์ที่ได้วัคซีนนั้นจะตอบสนองด้วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา

วัคซีน mRNA ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก แทบจะไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่มีข้อดีคือถ้าพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ขึ้นมาได้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีกว่าวัคซีนในปัจจุบันที่พัฒนาโดยนำไวรัสชนิดนั้นๆ มาทำให้มีฤทธิ์อ่อนลง แล้วฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

แต่ในทางปฏิบัตินั้นจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายหลายประการ การเข้าใจถึงกลไกของ DNA และสั่งการให้ RNA เป็นตำราในการสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนประเภทต่าง ๆ (ที่ต้องการ) ออกมา ต้องรู้จักพันธุกรรมของไวรัส หรือในกรณีของการรักษาโรค เช่น โรคเลือดจางประเภททาลัสซีเมีย ก็จะต้องเข้าใจว่ายีนตัวใดบกพร่อง ทำให้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีโปรตีนไม่สมประกอบ เป็นต้น

mRNA นั้นมีความเปราะบางมาก และจะเสื่อมสภาพเมื่อเข้าไปในเส้นเลือด จึงจะต้องมีกระบวนการห่อหุ้ม mRNA (คือการใช้ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของคอเลสเตอรอลห่อหุ้ม mRNA) เพื่อปกป้อง mRNA ในระหว่างการขนส่งเข้าไปในร่างกาย

ซาฮินและและตุเรชีตั้งโปรเจคชื่อ “Light Speed” และตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ 500 คน เพื่อเริ่มการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนกระทั่งเดือนมีนาคม ไบโอเอ็นเทคตัดสินใจร่วมมือกับบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างไฟเซอร์ ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ โดยในข้อตกลง ไบโอเอ็นเทคจะต้องถ่ายทอดงานวิจัยเกี่ยวกับ mRNA ให้กับไฟเซอร์ แลกกับการที่ไฟเซอร์ต้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งต้องยอมให้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาได้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไบโอเอ็นเทคแต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่จะมีการพัฒนาใหม่ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่อาจต้องเจรจากันอีกครั้งว่า ใครจะได้สิทธิ์ในส่วนนั้นไป

แม้จะฟังดูแล้วเป็นข้อตกลงที่ไฟเซอร์เสียเปรียบ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยี mRNA เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากถึงขั้นที่ไฟเซอร์ยอมให้ทุกอย่างเพื่อแลกกับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ซึ่งความน่าประทับใจดังกล่าวได้ถูกสะท้อนไปในราคาหุ้นของบริษัท startup ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นไปได้ไม่นาน เช่น

  • ราคาหุ้น Moderna (ใน Nasdaq) เข้าตลาดเมื่อปลายปี 2018 ด้วยราคาประมาณ $18.60 ต่อหุ้น ต่อมาปรับขึ้นเป็น $62.00 ต่อหุ้น ในเดือนมิถุนายน 2020 และปรับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น $156.93 ต่อหุ้น เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2020
  • ราคาหุ้น BioNTech (ใน Nasdaq) เมื่อตุลาคม 2019 ด้วยราคาประมาณ $13.82 ต่อหุ้น ต่อมาปรับขึ้นเป็น $48.60 ในเดือนมิถุนายน 2020 และปรับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น $127.30 ต่อหุ้น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2020

การปรับขึ้นของราคาหุ้นดังกล่าวนั้น เชื่อว่าไม่ใช่เพราะความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นถือได้ว่าผ่านการพิสูจน์ศักยภาพมาแล้ว และมีศักยภาพอีกมากมายในทางรักษาโรคอื่นๆ

แต่แน่นอนทุกการทำงานกับคู่ธุรกิจใหม่ๆก็ย่อมมีปัญหาไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ การทำงานระหว่างไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทคในช่วงแรก ติดปัญหาการเดินทางเป็นหลัก เนื่องจากในตอนนั้นสหรัฐฯ สั่งระงับการเดินทางจากสหภาพยุโรป ทำให้เครื่องบินส่วนตัวของผู้บริหารไฟเซอร์ กลายเป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งข้อมูล อุปกรณ์และงานวิจัยสำคัญข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

ซาฮินยอมรับว่า การที่บริษัทเล็กๆ อย่างไบโอเอ็นเทคที่มีพนักงานราว 1,500 คน ไปทำงานเป็นพันธมิตรกับบริษัทยาเก่าแก่อายุ 170 ปีที่มีพนักงานเกือบ 100,000 คนอย่างไฟเซอร์ ทำให้เขากังวลอย่างมากในช่วงแรก แต่ก็ต้องแปลกใจเพราะเมื่อทำงานด้วยกันจริงๆ ทั้งสองบริษัทแทบจะไม่มีความขัดแย้งต่อกันเลย เพราะทุกคนต่างลดอีโก้ของตัวเองลง และพูดคุยด้วยเหตุผลเป็นหลัก

ในที่สุดผลการทดลองกับอาสาสมัครในระยะที่สามพบว่า วัคซีนที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทคให้ผลต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 90% ซึ่งถือว่าได้ผลดีจนประธานบริษัทไฟเซอร์ระบุว่า นี่ถือเป็นวันที่ดีที่สุดของแวดวงวิทยาศาสตร์และมนุษยชาติ

ก้าวต่อไปของวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค คือการรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัยเพื่อส่งเรื่องไปขออนุมัติให้ใช้วัคซีนได้ในกรณีฉุกเฉินต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) โดยหลังได้รับการอนุมัติ ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคคาดว่า น่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ถึง 1,300 ล้านโดสในปีนี้