เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

รู้ไหมว่า จากสถิติเรามีโอกาสเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 น้อยกว่า 1% แต่กลายเป็นว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นโรคทางใจสูงกว่าปอดอักเสบเสียอีก

หลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสผู้คนมีแนวโน้มที่จะกลัวการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น กลัวการเดินทางในที่สาธารณะ หรือบางคนอาจมีอาการที่แสดงออกทางกายภาพด้วย เช่น หัวใจเต้นแรง หรือความรู้สึกมวลท้องเพราะความกังวล ซึ่งความวิตกนั้นสามารถพัฒนาร่างขึ้นไปถึงการมีอาการป่วยทางใจหรือโรควิตกกังวลได้เหมือนกัน

งานวิจัยของ the National Institute of Mental Health ระบุว่าประมาณ 31.1% ของชาวอเมริกันมีประสบการณ์เกิดโรควิตกกังวลอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่เมื่อเกิดภาวะโรคระบาดตอนนี้ตัวเลขความเป็นไปได้ก็เขยิบสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และพบว่าผู้คนมีอาการ Anxiety Neurosis (โรคประสาทวิตกกังวล) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอาการ Anxiety เหล่านี้รวมไปถึงอาการ OCD (โรคย้ำคิดย้ำทำ) Panic Disorder (อาการกลัวอย่างรุนแรง) และ GAD (โรคกังวล) ด้วย

แต่เราจะทำยังไงที่จะปกป้องจิตใจน้อยๆ ของเราจากภาวะเหล่านี้
อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากความกลัวว่าจะติดไวรัสอย่างเดียวแต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำแนะนำเรื่อง “การปฏิบัติการ” ป้องกันไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการย้ำเตือนตัวเองและคนอื่นให้ล้างมือทุกครั้งที่มีโอกาส จับหน้าให้น้อยที่สุด ทำความสะอาดทุกอย่างรอบตัว ก็ส่งผลให้เกิดความกังวลและย้ำเตือนตัวเองตลอดเวลา

ความกลัวว่าสิ่งปนเปื้อนจะเข้าสู่ร่างกาย หรือคิดว่ากำลังสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา เป็นอาการพื้นฐานที่สุดของโรค OCD เพราะต่อให้ไม่มีสถานการณ์ไวรัส พวกเขาก็ล้างมือแล้วล้างมืออีก ล้างมือแล้วล้างมืออีก เป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

ดังนั้นสำหรับคนที่มีอาการ คำแนะนำประเภทไม่เจาะจงทั้งหลาย เช่น “ล้างมือทุกครั้งที่มีโอกาส” นั้นไม่เป็นมิตรเท่าไร และคงเป็นคำสุดท้ายที่แพทย์จะพูดกับผู้ป่วย OCD แต่ควรเปลี่ยนคำแนะนำเป็น การกำหนดช่วงเวลาการล้างมือที่แน่นอนมากกว่า เช่น หลังการจาม ก่อนและหลังกินข้าว หลังกลับเข้าบ้าน เป็นต้น

หรือคำแนะนำ “ให้หลีกเลี่ยงที่สาธารณะ” ก็อาจสร้างความสับสนให้ผู้ป่วย Anxiety หรือ GAD เพราะพวกเขามักคิดว่าตัวเองจะเป็น “ผู้โชคร้าย” เสมอ และการให้เลี่ยงพื้นที่สาธารณะอย่างไม่เจาะจง อาจส่งผลให้เกิดความวิตกจนไม่สามารถควบคุมตัวเองและมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเดินทางไปตลอด ดังนั้นจึงควรมีคำแนะนำที่เจาะจงกว่านี้ว่าสถานที่แบบไหนที่ควรไป ที่ไหนควรเลี่ยง และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ชัดเจน

ในประเทศไทยเองเมื่อปี 2561 กรมสุขภาพจิตได้ประเมินว่ามีผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่อายุมากกว่า 18 ปี อยู่ราว 0.3% ของประชากร หรือประมาณ 1.4 แสนคนทั่วประเทศ พวกเขาคือกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลทางใจและคำแนะนำที่เหมาะสม และชัดเจนเพื่อไม่ให้ความวิตกกังวลใจสูงขึ้น

สรุปแล้วไม่ว่าผู้ป่วยรายใหม่ที่อาจเริ่มมีอาการจากสถานการณ์ตอนนี้ หรือผู้ป่วยที่มีอาการอยู่เป็นทุนเดิม องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คนที่เริ่มมีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรงพยายามเลี่ยงการเสพข่าวที่ก่อความกังวล ที่สำคัญคนรอบข้างและสื่อเองก็ต้องให้คำแนะนำที่เข้าใจง่ายๆ เจาะจงมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และไม่สร้างความตื่นตระหนก เพื่อให้เรามีสุขภาพทั้งปอดทั้งใจที่แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

แหล่งอ้างอิง : https://www.washingtonpost.com/