เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

หลายวันมานี้ หลายคนอาจจะได้ยินชื่อของแอปฯ Telegram (เทเลแกรม) กันมาบ้างแล้ว โดยตอนนี้ได้กลายเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญในหมู่ผู้ชุมนุม ขณะเดียวกันก็มีข่าวเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐ กำลังจับตาแอปฯ นี้อยู่ด้วยเช่นกัน

Telegram คืออะไร? ตอบแบบรวบรัดได้ว่า มันเป็นแอปฯ สำหรับส่งข้อความระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบของหนึ่งต่อหนึ่ง และการสื่อสารกันในกลุ่มต่างๆ

Telegram มีความแตกต่างจากแอปฯ สื่อสารอื่นๆ ตรงที่มีจุดขายเรื่อง ‘ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว’ เป็นพิเศษ โดยมีการเข้ารหัสข้อมูล

ถึงแม้แอปฯ แชทอื่นๆ เช่น facebook messenger และ whatsapp เองก็มีการเข้ารหัสข้อมูลเหมือนกัน แต่ Telegram มีฟีเจอร์พิเศษที่ชื่อว่า Secret Chats ที่เข้ารหัสแบบที่มีเพียงแค่ ผู้ส่งข้อความ และผู้รับข้อความเท่านั้น (ศัพท์เทคนิคเรียกสิ่งนี้ว่า การเข้ารหัสแบบ End-To-End encryption) นอกจากนี้ ถ้าเราลบข้อมูลในแชทไปแล้ว ข้อมูลที่ไปถึงอีกฝั่งก็จะถูกลบด้วยเหมือนกัน รวมทั้ง การตั้งค่าให้ข้อความลบเองโดยอัตโนมัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ Telegram จึงมักได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งาน ที่ต้อการสื่อสารข้อความที่เป็นส่วนตัว รวมถึงข้อความที่ไม่ต้องการให้บุคคลที่สามเข้ามาดักจับข้อมูลระหว่างทางได้

ในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง ก็มีการใช้แอปฯ นี้เป็นช่องทางยอดนิยมเพื่อเคลื่อนไหว รายงานของ BBC เคยสัมภาษณ์ผู้ชุมนุในฮ่องกงที่ใช้ Telegram ว่า พวกเขาใช้แอปฯ นี้เพราะมันช่วยกระจายข่าวสารออกไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงเหมาะกับการชุมนุมที่ไร้แกนนำในฮ่องกง เพราะไม่จำเป็นต้องรอฟังข่าวสารจากคนเพียงคนเดียว แต่ทุกคนสามารถแสดงความเห็น และช่วยกันกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว (มิหนำซ้ำ ยังช่วยปกปิดตัวตนผู้ใช้ได้ค่อนข้างดี)

นอกจากนี้ การตั้งกลุ่มสนทนานั้น ช่วยให้ผู้ชุมนุมสามารถลงมติในการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ง่ายด้วยเหมือนกัน “การลงมติแบบเรียลไทม์อย่างนี้ มักจะใช้ได้กับกรณีที่มีตัวเลือกจำกัดและชัดเจนเท่านั้น เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งต้องเลือกระหว่างสิ่งที่แตกต่างกันมาก ๆ เหมือนสีดำกับสีขาว” หนึ่งในผู้ชุมนุมฮ่องกง บอกกับ BBC

ขณะเดียวกัน จุดยืนจากทาง Telegram เองก็มีจุดยืนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปกปิดตัวตนของผู้ใช้งานด้วย สำนักข่าว Reuters เคยรายงานว่า Telegram เคยมีนโยบายที่จะช่วยปกปิดการค้นหาผู้ใช้งานผ่านการค้นด้วยเบอร์โทรศัพท์ในฮ่องกง

ไม่เพียงแค่ในฮ่องกง แต่มีรายงานว่า Telegram ยังถูกนำมาใช้ในการประท้วงที่อื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างการประท้วงรัฐบาลในประเทศรัสเซีย และเบลารุส เมื่อเร็วๆ นี้ (มีการเรียกชื่อการประท้วงในเบลารุสด้วยว่าเป็น Telegram Revolution) รวมถึง การประท้วงในอิหร่านเมื่อปี 2018 การประท้วงในรัสเซีย รวมถึงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยรอบล่าสุดนี้

ในอีกทางฝั่งหนึ่ง การมีอยู่ของแอปฯ Telegram ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับรัฐบาลในบางประเทศ ยกตัวอย่าง รัฐบาลรัสเซียที่เคยมีนโยบายบล็อก Telegram เพราะแอปฯ นี้ไม่ยอมให้ข้อมูลกับภาครัฐ

ล่าสุดรัฐบาลไทยถึงกับต้องสนใจแอปนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษจนถึงขั้นมีคำสั่งระงับใช้แอปนี้กันเลยทีเดียว

ที่มา – The MATTER