เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันนี้(14 ก.ย.63)  ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 10/2563 ระหว่างบริษัทการบินไทยฯ ลูกหนี้ผู้ร้องขอกับเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน

สำหรับคดีนี้ ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและขอให้ศาลตั้งบุคคลที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผน ศาลประกาศนัดไต่สวนตามกฎหมายแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดด้าน รวม 16 ราย ขอให้ศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และคัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ระหว่างพิจารณาศาลไต่สวนพยานฝ่ายลูกหนี้ รวม 5 ปาก และไต่สวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้ รวม 3 ปาก

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้หรือไม่ เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค.63 และวันที่ 30 มิ.ย.63 ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งงบแสดงฐานะทางการเงินได้ตรวจสอบและสอบทานตามมาตรฐานการบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ประกอบกับสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินของลูกหนี้บางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สามารถยึดหรือบังคับชำระหนี้ได้ เป็นเพียงการบันทึกตามมาตรฐานทางบัญชีเท่านั้น ปัจจุบันลูกหนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระโดยไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่ 2 ว่า มีเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ปัจจุบันลูกหนี้ยังคงมีความสามารถในการสร้างรายได้ สาเหตุที่ทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้การประกอบกิจการการบินพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของลูกหนี้และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องต้องลดการให้บริการลงอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินในต่างประเทศ หากลูกหนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการย่อมเกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ ลูกจ้าง ผู้ลงทุนในกิจการของลูกหนี้ ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำหรับช่องทางการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อ โดยพักหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งลูกหนี้ยังมีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าและให้เช่าซื้อเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ ทำให้ข้อกล่าวอ้างของลูกหนี้มีน้ำหนัก การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้กิจการของลูกหนี้ต้องล้มละลาย

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่ 3 ว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริตหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดได้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอได้ตามกฎหมาย ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้รับฟังได้ว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยไม่สุจริต นอกจากนี้ การที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมมีผลเป็นเพียงการจัดตั้งกระบวนการบังคับเจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ ให้เจรจาตกลงกันในเรื่องมูลหนี้ โดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อหาวิธีการรักษามูลค่าทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากที่สุดด้วยความเป็นธรรม ลูกหนี้จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า บุคคลที่ลูกหนี้เสนอสมควรเป็นผู้ทำแผนหรือไม่ ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ลูกหนี้เสนอขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือไม่สมควรเป็นผู้ทำแทน จึงเห็นสมควรตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน

ศาลจึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยฯ โดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับพล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน