เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ข่าวการก่อเหตุข่มขืนในสังคมไทยเกิดขึ้นไม่ว่างเว้นจากหน้าสื่อ หลายเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคม เมื่อผู้ถูกกระทำเป็นเด็กที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ แล้วถูกกระทำจากคนใกล้ชิดที่เด็กไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติ เพื่อนบ้าน หรือครู

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่รวดเร็วทันใจ มีการตัดสินลงโทษไม่สาสม ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ก่อคดีซ้ำซาก มีการใช้อิทธิพลแทรกแซง เกิดการคุกคามครอบครัวผู้เสียหาย หรือการบีบบังคับให้ยุติการดำเนินคดี สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความขุ่นเคืองให้กับสังคม จนหลายครั้งนำไปสู่การรณรงค์ให้มีการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยมุ่งหวังว่าจะให้ผู้ก่อเหตุข่มขืนจะเกิดความหวาดกลัว เช่น โทษประหารชีวิต หรือล่าสุดที่มีการหยิบยกข้อเสนอเรื่องการฉีดยาให้อัณฑะฝ่อ เพื่อที่จะไม่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย และเชื่อว่าจะทำให้ผู้ก่อเหตุไม่ไปกระทำผิดซ้ำ

หากมองไปที่ปัญหาการข่มขืนที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงในสังคมไทย รวมไปถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่เปิดช่องว่างให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลอง การเสนอให้ใช้การลงโทษที่เด็ดขาดรุนแรงในโครงสร้างระบบยุติธรรมที่ยังมีข้อบกพร่อง อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ก่อนที่สังคมจะมีคำตอบในเรื่องนี้ เราจึงควรมีการพูดคุยกันอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือการลงโทษแบบไหนที่จะตอบสนองต่อปัญหาการข่มขืนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์ของสังคม

ข้อถกเถียงวิธีลงโทษด้วยการฉีดไข่ฝ่อ

การฉีดยาเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายแก่ผู้กระทำผิดคดีข่มขืน เป็นวิธีที่ยังมีการถกเถียงถึงความเหมาะสมในหลายประเทศ ถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และจุดมุ่งหมายที่ต้องการลดเหตุข่มขืนในสังคม

นายแพทย์ กัมปนาท พรยศไกร ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เคยให้ความเห็นเรื่องนี้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Sarikahappymen ว่า ทางการแพทย์มีวิธีลดฮอร์โมนเพศชายเพื่อรักษาคนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก 2 วิธี คือ 1.ผ่าตัดเอาไข่ที่เป็นตัวผลิตฮอร์โมนออก วิธีนี้ง่าย สะดวก ประหยัด 2.ฉีดยากดฮอร์โมน ไม่ต้องผ่าตัด แต่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือนตลอดชีวิต ค่ายาปีละนับแสนบาท

ผลของการไม่มีฮอร์โมนเพศชายจะทำให้หงอยเหงา ซึมเซา ความต้องการทางเพศลด ความแข็งและขนาดลดลง จึงนำมาสู่แนวคิดว่าจะนำมาใช้กับนักโทษคดีทางเพศเพื่อให้สังคมปลอดภัย แต่มีข้อสังเกตซึ่งเป็นที่ถกเถียงในหลายประเทศต่อประเด็นนี้

  • คดีข่มขืนลดลงจริงหรือ? จากข้อมูลพบว่าคดีข่มขืนลดลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเกิดเหตุแล้วจะหนักกว่าเดิม เมื่อข่มขืนเสร็จแล้วผู้ก่อเหตุจะพยายามฆ่าปิดปาก เนื่องจากกลัวโดนจับได้ทีหลัง
  • แล้วถ้าเป็นแพะล่ะ? ขณะที่ระบบยุติธรรมบ้านเรายังเป็นที่คาใจในหลายๆ เรื่อง หากคนที่ถูกดำเนินคดีกลายเป็นแพะขึ้นมา ตัดอวัยวะเพศไปแล้วมารู้ที่หลังว่าเป็นแพะ จะทำอย่างไร
  • ใครจ่าย? ในประเทศอังกฤษก็มีการถกเถียงกันเรื่องความคุ้มค่าที่จะต้องเอาภาษีปีละเป็นแสนบาทมาจ่ายค่ายากดฮอร์โมนให้ผู้ต้องหาหนึ่งคน ในขณะที่คนไข้มะเร็งต่อมลูกหมากในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังเบิกยาตัวนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

โพสต์ดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่าแม้วิธีดังกล่าวจะกำจัดฮอร์โมนเพศชายได้ แต่ผู้หญิงหลายคนก็ก่อคดีทางเพศได้ไม่ต่างกัน จึงมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนี้

ลงโทษรุนแรง ไม่เท่ากับ ความยุติธรรม

ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก เผยว่า ทางองค์กรต่อต้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ ไม่ว่าเกิดกับเพศใดก็ตาม รวมทั้งที่เกิดขึ้นกับเด็กด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อยุติความรุนแรงเช่นนี้ โดยระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเป็นสิ่งที่ทารุณจนยากจะบรรยาย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศหรือโทษประหารชีวิตไม่ถือเป็นความยุติธรรม หากยิ่งเพิ่มความทารุณโหดร้ายมากขึ้นไปอีก

วิธีการที่เรียกว่าการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ เป็นการฉีดยาหรือฮอร์โมนเพื่อกดความรู้สึกทางเพศ และเป็นการรักษาพยาบาลที่อาจกระทำได้ เมื่อบุคคลให้ความยินยอมซึ่งเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น หรือเป็นผลมาจากการประเมินโดยผู้ชำนาญการทางการแพทย์ว่ามีความเหมาะสม และอาจใช้ได้ดีสำหรับผู้ที่ต้องได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษโดยไม่มีความยินยอม อาจถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี นอกจากนั้น ยังเป็นการปฏิบัติที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นการปฏิบัติงานนอกเหนือจากกรอบการวินิจฉัยทางการแพทย์และจริยธรรมทางการแพทย์

ซึ่งตัวอย่างในประเทศอินโดนีเซียที่มีกฎหมายบังคับฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ แพทยสภาแห่งอินโดนีเซีย (IDI) ได้ออกมาปฏิเสธไม่ร่วมมือในการลงโทษด้วยการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ เนื่องจากเป็นการละเมิดจริยธรรมทางการแพทย์

แม้ว่าการนำ “การฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ” อาจมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึง “ความเด็ดขาด” ของรัฐบาลที่ใช้กฎหมายนี้ในการปราบปรามความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า มันเป็นมาตรการ “ที่ฉาบฉวย” เพียงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการปฏิรูปด้านกฎหมายและนโยบายที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องนำมาใช้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศได้อย่างเป็นผลมากขึ้น

แอมเนสตี้ ย้ำว่าการเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว จะต้องทำอย่างรอบด้านทั้งด้านกฎหมาย ร่างกาย จิตใจและสังคม สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาผู้เสียหายได้มากเท่านั้น นอกจากนั้นยังต้องมีการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้เสียหายในระยะยาวด้วย ซึ่งเรื่องหลังนี้รัฐจะต้องมีการทำงานอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายคนรวมทั้งครอบครัวที่ประสบชะตากรรมดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

ส่วนด้านการกล่อมเกลาผู้กระทำผิดในทัณฑสถาน ตามวิสัยทัศน์ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้ระบุไว้ว่า “เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม แก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดี มีคุณค่าสู่สังคม” เราหวังว่าทัณฑสถานจะสามารถมีบทบาทในการกล่อมเกลาผู้กระทำผิด เพื่อที่ผู้พ้นโทษที่ได้รับการแก้ไข บำบัดฟื้นฟูแล้วจะมีความพร้อมในการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่กระทำผิดซ้ำ และทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้นเป้าหมายหลักของ “โครงการคืนคนดีสู่สังคม” ที่กระทรวงยุติธรรมตั้งไว้จะได้เป็นจริงเสียที