เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ศบค.แถลง…!! อัพเดทตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ อีกขั้นของความสำเร็จเผยช่วงเวลาทดลองวัคซีนต้านโควิดในคน

จากที่ทั่วโลกเจอวิกฤตโควิด -19 เข้าถาโถมกับสถานการณ์โรคปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ไวรัสโควิด -19 จนทำให้ใครหลายๆ คนเดือดร้อนไปตามๆ กัน ซึ่งข้อมูลจากทั่วโลก ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.22 น. เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 5,404,648 มีผู้เสียชีวิต 343,982 คน ในจำนวนนี้มีผู้รักษาหายแล้ว 2,247,250 ราย

โดยสหรัฐอเมริกายังคงครองอันดับหนึ่งของโลกที่มียอดผู้ป่วยสะสมพุ่งไปถึง 1,666,828 ราย รองลงมาคือบราซิลที่มียอดผู้ป่วยสะสมที่ 349,113 ราย อันดับสามเป็นรัสเซียอยู่ที่ 335,882 ราย อันดับสี่เป็นสเปนที่ 282,370 ราย อันดับที่ห้าตกเป็นของสหราชอาณาจักรที่ 257,154 ราย อันดับที่หกเป็นอิตาลีที่ 229,327 ราย อันดับเจ็ดเป็นฝรั่งเศสมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 182,469 ราย อันดับที่แปดเป็นเยอรมนีที่ตัวเลข 179,986 ราย อันดับที่เก้าเป็นตุรกีที่ 155,686 ราย และอันดับสิบเป็นอิหร่านที่ 133,521 ราย (ข้อมูล ณ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 10.22 น.)

ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 โดยแพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้อัพเดตผู้ป่วยประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 11.30 น. ว่าพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 0 ราย รวมสะสม 3,040 ราย รวมหายป่วยแล้ว 2,921 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลอีก 63 รายวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มจึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเป็น 56 ราย

ขณะเดียวกันแพทย์หญิงพรรณประภา ได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศอีกด้วยว่าผลการทดลองชี้ชัดวัคซีนต้านโควิด – 19 จีน ปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากผลการทดลองวัคซีนโควิด – 19 ของประเทศจีนตัวแรกที่ผ่านการ ทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 พบปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสได้และการทดลองแบบเปิด หรือ open-label trial ในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ด้าน นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. ได้ประชุมร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม และคณะทำงานศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหารือการพัฒนาและวางแผนการขึ้นทะเบียนวัคซีน Covid 19 ซึ่งขณะนี้การพัฒนาวัคซีนรูปแบบ mRNA ของศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองขั้นแรกเป็นที่น่าพอใจ

ขั้นตอนการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนเพื่อใช้สำหรับศึกษาวิจัยในคน โดยบริษัทผู้ผลิตชั้นนำในสหรัฐอเมริกา รวมถึงความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทย เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง