เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีที่ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อโควิด 40 คน และกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการตรวจซ้ำครั้งที่ 2 พบว่าทั้งหมดไม่มีการติดเชื้อ จึงให้ส่งตัวอย่างเข้า กทม.เพื่อตรวจซ้ำครั้งที่ 3 เพื่อยืนยัน
.
เริ่มจาก 18-24 เม.ย. จ.ยะลา ได้ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active case finding) ในชุมชนทุกอำเภอรวม 3,277 ตัวอย่าง จำนวนนี้พบผู้ติดโควิด 20 คน จาก อ.เมืองยะลา 3 คน,อ.ยะหา 3 คน และอ.บันนังสตา 14 คน
.
จากผู้ติดเชื้อ 20 คนนี้ มีสอบสวนโรคค้นหาผู้ที่มีความเชื่อมโยง สัมผัสใกล้ชิดอีก 671 คน หลังคัดกรองด้วยการสัมภาษณ์ซักประวัติแล้วเหลือที่ต้องตรวจหาเชื้อ 222 คน จำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 6 คน จาก อ.บันนังสตา 5 คน และ อ.ยะหา 1 คน
.
ทีมสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดจาก 6 คนนี้ พบมี 311 คน นำมาซึ่งปฏิบัติการตรวจและผลจากห้องแล็บ จ.ยะลา พบติดเชื้อ 40 คน จาก อ.เมืองยะลา 4 คน, อ.ยะหา 24 คน ,อ.บันนังสตา 7 คน และ อ.รามัน 5 คน.
อย่างไรก็ตามข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลภายในที่อยู่ระหว่างการประมวลผล แต่กลับหลุดออกไปก่อนการแถลงอย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นข่าวในวงกว้างตลอดวันที่ 3 พ.ค. ทำให้สาธารณสุขจังหวัดยะลา ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงในช่วงเย็นวันเดียวกันว่า มีการเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อใหม่เพื่อส่งตรวจยืนยันอีกครั้ง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา


.
เช้าวันที่ 4 พ.ค. ผลจากห้องแล็บสงขลา ให้ข้อมูลตรงกันข้ามกับห้องแล็บยะลาว่า ทั้งหมดไม่ติดเชื้อ จึงให้มีการส่งตรวจซ้ำอีกครั้งที่ห้องแล็บของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ระบุว่า สาเหตุน่าจะเกิดการขั้นตอนการตรวจในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจและเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะส่งตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอให้รอผลการตรวจอีกครั้งว่าเป็นผู้ที่ติดเชื้อหรือไม่
.
“แต่ในเบื้องต้นโอกาสที่จะเป็นผู้ติดเชื้อน่าจะน้อยเพราะทั่วไปคนที่ไม่มีอาการ เรามักจะไม่พบการติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์ที่สูง เว้นแต่ว่าจะมีการพบผู้ป่วยที่ต่อเนื่องมาจำนวนมากและอยู่ในระยะเวลานานๆ ”
.
ส่วนกรณีของห้องแล็บ จ.ยะลา ที่รายงานผลว่าติดเชื้อ 40 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญลงไปให้คำแนะนำ และวางมาตรฐานการตรวจวินิจฉัย ให้กลับมาอยู่ในระดับหรือขั้นตอนที่ถูกต้อง หลังจากที่มีการจัดการจุดที่มีความคลาดเคลื่อน


.
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีนี้ตอนหนึ่งว่า “เหตุที่ห้องแล็บ รพ.ยะลา รายงานผลเป็นบวกนั้น เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เข้าใจว่าเกิดจากการปนเปื้อนของไวรัสโควิดในระบบเครื่องตรวจ RT- PCR ทั้งนี้ ในการตรวจพบว่า หลอดที่เป็นน้ำไม่มีตัวเชื้อ ที่เป็นตัว control (No Template Control) ซึ่งในการเดินเครื่อง PCR ทุกรอบก็ต้องมีการ control ด้วย NTC เสมอ นั้น ที่แล็บยะลาผลการทดสอบของ NTC เป็นบวกด้วย ซึ่งบอกถึงการปนเปื้อน จึงทำให้ไม่อาจตัดสินได้ว่า ผลการตรวจนั้นเป็นผลบวกจริง (true positive) หรือ ผลบวกลวง (false positive) จึงต้องตรวจใหม่ทั้งหมด”