เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 19 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อบรรเทาผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม ให้ดำเนินการเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพ.ร.ก.นี้ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันดำเนินการ ให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง การดำเนินการตามพ.ร.ก.นี้ให้มีระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ เว้นแต่ครม.ตามข้อเสนอแนะของธปท.จะเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ จะมีมติให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้

โดยให้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยให้กองทุนเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มีคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องมีลักษณะดังนี้

1.เป็นตราสารหนี้ที่ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด

2.ผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีแหล่งเงินทุนอื่นที่มิใช่กองทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน

3.เป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายให้แก่กองทุน ประชาชน หรือบุคคลใดๆ ในคราวเดียวกันที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำกว่าลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวได้กระทำโดยองค์กรที่ธปท.กำหนด

4.ผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน