เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 ที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายพิเศษ กู้เงินรองรับสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” เฉียด 2 ล้านล้านบาท

1 ในมาตรการที่รัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษี ต้องทะยอยจ่ายคืนคือ การออก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น 4 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเค้กชิ้นนี้อาจตกอยู่ในมือของนักการเมืองท้องถิ่น-และกลไกข้าราชการทั้งหมด

อีกจำนวน 6 แสนล้านบาท ที่เป็นเค้กก้อนใหญ่ ที่ตกไปถึงมือของประชาชาชนทั่วไปอย่างน้อย 18 ล้านคน ที่จะได้รับ“แจกเงินสด” คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรืออาจจะ 6 เดือน ตามแต่ระดับความรุนแรงของโรคระบาด และผลสะเทือนทางเศรษฐกิจ

18 ล้านคนนี้ มาจากที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า จะมีผู้ผ่านเกณฑ์การได้รับความช่วยเหลือประมาณ 9 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียน 27.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2563

อีก 9 ล้านคน มาจากกลุ่มเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้ง ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ประมง และปศุสัตว์ ประมาณ 9 ล้านครัวเรือน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นผู้บริหารการแจก

เช็กสถานะของผู้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com (ณ.วันที่ 14 เมษายน 2563)

1. ผู้ที่ได้รับเงิน 5,000 เรียบร้อยแล้ว

ระบบจะแจ้งข้อมูลว่า “ท่านได้รับสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท” ประกอบด้วย จำนวนคนดังนี้

วันที่ 8 เมษายน 2563 จำนวน 2.8 แสนคน
วันที่ 9 เมษายน 2563 จำนวน 7.53 แสนคน
วันที่ 10 เมษายน 2563 จำนวน 6.44 แสนคน
วันที่ 13 เมษายน 2563 จำนวน 3 แสนราย
วันที่ 14 เมษายน 2563 จำนวน 3 แสนราย
วันถัดไปเฉลี่ยจ่ายวันละประมาณ 3 แสนราย

ผู้ที่มีสิทธิ์ได้แน่นอน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว แผงขายของในตลาด อาชีพอิสระ ขับมอเตอร์ไซค์, แท็กซี่, ขายสลากกินแบ่ง, มัคคุเทศน์

2. ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การได้รับเงิน 5,000 บาท จำนวนประมาณ 5 ล้านราย

ระบบจะแจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ์” และข้อความต่อว่า “ตามที่ท่านได้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) โดยระบบการคัดกรองและตรวจสอบสิทธิ์ พบว่าท่านไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากท่านเป็นเกษตรกร ภาครัฐจะได้มีโครงการ/มาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในโอกาสต่อไป จึงใคร่ขอสงวนสิทธิ์การให้ความช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยานี้”

กลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์ มีทั้งหมด 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.อายุไม่ถึง 18 ปี 2.ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่นแม่บ้าน 3.ข้าราชการหรือบำนาญ 4.อยู่ในระบบประกันสังคม 5.เกษตรกร ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการมาช่วยเหลือเพิ่มเติม 6.นักเรียนหรือนักศึกษา

ทั้ง 5 ล้านคนนี้ เริ่มอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ได้ อย่างเร็วในวันที่ 20 เมษายน 2563 แต่ช้าสุดไม่เกิน 21 เมษายน 2563 ระบบจะพิจารณาให้เร็วที่สุดภายใน 7 วัน ถ้าใครได้รับสิทธิ์ระบบก็จะโอนเงิน 5,000 บาท ให้ทันที

3. สถานะ ที่ระบุว่า “ท่านได้รับสิทธิ์ แต่บัญชีชื่อไม่ตรงกับชื่อและที่สกุลที่ท่านลงทะเบียน โปรดเปลี่ยนแปลงวิธี/ข้อมูลการรับเงิน สาเหตุเกิดจากกรอกเลขบัญชีผิด ทำให้ชื่อบัญชีที่ปรากฏ ไม่ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียน”

สามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ แต่จะได้ครั้งเดียวเท่านั้น ให้ใช้บัญชีเดิมผูกพร้อมเพย์บัตรประชาชน ระบบจะมีรอบการโอนซ้ำให้ในวันที่ 22, 29 เมษายน 2563 หรือระบุบัญชีเดิมที่ปุ่ม“เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ว่า การตรวจสอบคนที่มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท บาท ผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน.com จำนวน 27.2 ล้านราย จะเร่งตรวจสอบให้เสร็จครบทั้ง 27.2 ล้านราย

“ขอให้เร่งระบบตรวจสอบให้เสร็จภายในวันศุกร์ที่ 17 เม.ย.นี้ เพราะอยากให้เงินออกไปเร็วให้สุด อีกทั้งในสัปดาห์หน้าในเว็บเราไม่ทิ้งกัน จะมีปุ่มขึ้นมาอีก 1 ปุ่ม คือ ปุ่มอุทธรณ์ เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ผ่านการคัดกรองได้อุทธรณ์โดยเป็นการกรอกข้อมูลสั้นๆ ว่าข้อมูลในระบบไม่ตรง หรือ ไม่ได้ประกอบอาชีพตามที่ได้รับ sms แจ้งไป”

ทั้งนี้ ปุ่มดังกล่าวจะเร่งทำให้เสร็จวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 แต่ช้าสุดไม่เกิน 21 เมษายน 2563 โดยยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น

นายลวรณกล่าวว่า การตรวจสอบการอุทธรณ์จะไม่เกี่ยวกับฐานข้อมูล เพราะถือว่าฐานข้อมูลจบแล้ว จากนี้จะดูตัวตนของผู้ลงทะเบียน โดยใช้กลไกหน่วยงานของกระทรวงการคลังในพื้นที่ทั้งหมด 77 จังหวัด ทั้งฝ่ายของรัฐ และธนาคารเฉพาะกิจ รวมถึงเพิ่มเติมกลไกของกระทรวงมหาดไทย ลงไปตรวจสอบพร้อมกันทั้งหมด กระจายเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น ถ้าทำอาชีพช่างตัดผมก็จะไปดูที่ร้าน หรือขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็จะไปดูที่วินจะได้หายข้อสงสัย

สำหรับกระบวนการตรวจสอบขั้นอุทธรณ์จะใช้เวลาเท่าใดนั้น ต้องขอดูจำนวนที่ยื่นอุทธรณ์เข้ามา เพราะกลุ่มที่มีปัญหาขณะนี้ คือ กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว แต่ไปเรียนเสริม ทั้งสองกลุ่มนี้น่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ไม่แน่ใจจะมีกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นหรือไม่

ส่วนกรณีที่สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ใช้สายด่วนทำเนียบ 1111 รวบรวมข้อมูลกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ 5,000 บาท ส่งมาที่กระทรวงการคลังนั้น ได้รับแจ้งในเบื้องต้น เป็นช่องทางที่ดีหากมีคนที่ตกหล่นอยู่ ซึ่งภาครัฐไม่ทิ้งต้องตามเก็บคนที่เยียวยาไม่ครบ ส่วนผู้พิการจะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะช่วยลงทะเบียนผู้พิการ เพราะเจ้าตัวไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนด้วยตัวเอง แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้พิการลงทะเบียน ที่เข้าถึงสิทธิ์แล้วกี่คน หรือเข้าไม่ถึงกี่คน

ข้อมูลจาก – Prachachat