เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทั้งในส่วนของประชาชน แพทย์และพยาบาล เป็นอีกปัญหาสำคัญที่ตามมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมมีคำถามมากมายถึงรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ในการผลิตและกระจายหน้ากากอนามัยไปยังผู้ใช้

หากนับจากช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดตั้งแต่เดือนม.ค.2563 ถึงปัจจุบัน ผ่านมาถึง 3 เดือน แต่หน้ากากอนามัยก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลแก้ไม่ตก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการและยังหาซื้อได้ด้วยความยากลำบาก

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. มีคำพูดจากรมว.พาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถึงสถานการณ์หน้ากากอนามัย ที่หวังสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยนายจุรินทร์ได้ระบุขณะตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า

“ประเทศไทยโดยรวมสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยมีความต้องการใช้ในประเทศประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่วนศักยภาพการผลิตทั้งระบบมีอยู่ประมาณ 10 โรงงานใหญ่ มีกำลังผลิต 100 ล้านชิ้นต่อเดือน พร้อมยืนยันว่ากำลังการผลิตรวมในประเทศเพียงพอสำหรับการสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศ และสต๊อกปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ม.ค.2563) มีอยู่ประมาณ 200 ล้านชิ้น ที่พอจะใช้ไป 4-5 เดือน”

ทำให้มีคำถามตามมาถึงสต๊อกหน้ากากอนามัยที่นายจุรินทร์ระบุถึง 200 ล้านชิ้น เพราะในสถานการณ์จริง หน้ากากอนามัยยังคงขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประชาชนอย่างมาก

จากนั้นในวันที่ 9 มี.ค.2563 โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิป เสี่ยบอย ศรสุวีร์ ที่อ้างว่าสามารถจัดหาหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในสต๊อกถึง 200 ล้านชิ้น ก่อนโดนตำรวจเข้าควบคุมตัวมาสอบสวน พร้อมยังมีภาพถ่ายโยงถึงอดีตผู้สมัครส.ส.พลังประชารัฐ

โดยเสี่ยบอย ได้ขอโทษสังคม อ้างตัวเองเป็นแค่นายทุน ไม่มีสินค้าอยู่จริง ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น

ซึ่งในเรื่องนี้ตำรวจเตรียมแถลงความคืบหน้าคดีอีกครั้ง

ตามมาด้วยอีกปมร้อน เมื่อโฆษกกรมศุลกากรได้เปิดข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัย ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2563 ระบุมีมากถึง 330 ตัน จนนำมาสู่การแจ้งความเอาผิดระหว่างนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (ในขณะนั้น) กับโฆษกกรมศุลกากร

สุดท้ายกรมศุลกากรออกมาปฏิเสธข่าวการส่งออกหน้ากากอนามัยว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเท่านั้น

จากปัญหาการกักตุนและขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้ในวันที่ 16 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งด่วนให้นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เข้ามาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

ก่อนนายวิชัยจะตัดสินใจลาออกจากราชการ..!!

ทำให้สังคมต่างตั้งคำถามถึงความจริงเรื่องหน้ากาก 200 ล้านชิ้น ตามคำกล่าวของรมว.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร

กระทั่งล่าสุดในวันที่ 30 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะล้างตัวเลขเก่าที่มีทั้งหมด เช่น การมีหน้ากากในสต๊อก 200 ล้านชิ้น ให้ถือว่าตัวเลขทั้งหมดนั้นผิดพลาด เราล้างข้อมูล และทำการประเมินใหม่

โดยเรามีโรงงงานที่จะผลิตหน้ากาก 11 โรงงาน ผลิตได้วันละ 2.3 ล้านชิ้น ก็มาวางแผนการกระจายหน้ากากใหม่ โดยใช้บริการของไปรษณีไทยขนหน้ากากไปทั่วประเทศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยรับมอบ

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ 1.3 ล้านชิ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางการแพย์เท่านั้น และอีก 1 ล้านชิ้น เป็นโควตาของกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะให้อสม.ที่ไปเฝ้าระวังผู้ป่วยในต่างจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง เช่น พนักงานขนขยะ ตำรวจ ทหาร ที่ตั้งด่านตรวจระหว่างทาง และให้ผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ เด็ก และคนชรา

เช่นเดียวกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงปมร้อนนี้เช่นกันว่า กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงเรื่องหน้ากากอนามัยว่า ถ้าย้อนหลังไปถึงวันที่เริ่มเกิดเหตุการณ์นี้ใหม่ๆ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ โดยประชุมหารือกับโรงงานผู้ผลิต 11 โรงงาน สอบถามถึงกำลังการผลิตทราบว่า 1,200,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน และมีการเผยแพร่ในสื่อว่ามีสต๊อกอยู่ 200 ล้านชิ้น ขอเรียนว่าเป็นความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร

สุดท้ายเชื่อว่าปมร้อนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ยังคงเป็นคำถามคาใจของประชาชนที่ยังขาดแคลนหน้ากากจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะชี้แจงเรื่องนี้ว่าเป็นตัวเลขที่ผิดพลาดและสื่อสารคลาดเคลื่อนก็ตาม