เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 24 มี.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 รวม 15 มาตรการย่อย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกมี 8 มาตรการย่อยที่เข้าไปช่วยเหลือแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือจ่ายเงินค่าประกันสังคมรายเดือนเอง ลูกจ้างรายวัน หาบเร่แผงลอย คนขับรถรับจ้าง ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ที่ไม่มีรายได้ประจำ ลูกจ้างสนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส เป็นต้น ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

ส่วนอีกกลุ่มมี 7 มาตรการย่อยเน้นดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นมาตรการระยะสั้นที่จะเข้าไปช่วยเหลือให้อยู่รอดไปอย่างน้อย 3 เดือน โดยกลุ่มประชาชนอาชีพอิสระ คาดว่าจะมีประมาณ 3 ล้านคน ประมาณการ คนละ 5,000 บาท/เดือนระยะเวลา 3 เดือน หรือต้องใช้เงินประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ต้องลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เปิดวันที่ 28 มี.ค.นี้ ซึ่งจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติ หลักฐาน ภายใน 5 วันทำการ ก่อนจะโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารต่อไป หรือหากใครไม่สามารถเข้าลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ ก็สามารถไปนำเอกสารไปติดต่อธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ทุกสาขา

ทั้งนี้ยังมี สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกินรายละ 1 หมื่นบาท บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน 3.สินเชื่อพิเศษ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน โดยต้องมีหลักประกัน 4.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำรัฐ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดย สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

มีโครงการ จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ และยังขยายฝึกอบรมผ่านเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้คนมีเงินเบี้ยเลี้ยงจากการฝึกอบรมเป็นอย่างน้อย และยังได้พัฒนาเป้นอาชีพด้วย 6.เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิม 30 มิ.ย.2563 เป็น 31 ส.ค.2563 7.เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 63 เป็นต้นไป และ 8.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข

“มาตรการก้อนแรกนี้ จะช่วยให้ประชาชนที่เจอผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีรายได้ไปประทังชีวิต โดยเฉพาะเงินที่ให้คนละ 5,000 บาท เน้นเฉพาะคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะมีแนวทางมาช่วยเหลืออยู่แล้ว และหากเงินก้อน 5,000 บาทไม่พอ ก็สามารถกู้สินเชื่อฉุกเฉินได้ทั้งก้อนแรก 1 หมื่นบาท และ 5 หมื่นบาท อีกทั้งยังมีเงินก้อนหนึ่งซึ่งช่วยได้อีก คือเงินที่จะได้จากการอบรมระยะสั้น หลักสูตรก็อยู่ที่จะออกแบบมาเป็นแบบไหน เช่น 7 วัน อาจได้เงินเบี้ยเลี้ยงอีก 2,000 บาท ทำให้ในช่วง 1 เดือนคนกลุ่มนี้จะมีเงินประทังชีวิตอย่างน้อย 7,000 บาท”

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมี 7 มาตรการย่อย คือ 1.เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3% ช่วง 2 ปีแรก 2. ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด.50 จากเดิมเดือนพ.ค.63 เป็นภายใน 31 ส.คง63 ส่วนภ.ง.ด.51 จากเดิมเดือนส.ค.63 เป็นภายใน 30 ก.ย.63 3.ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีและชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน 4.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสถานบริการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค.2563 ให้เสียภาษี 15 ก.ค. 2563

5.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไป ระยะเวลา 3 เดือน 6. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงเดือนก.ย. 2563 และ 7.ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ และลิสซิ่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 – 31 ธ.ค. 2564

นายสมคิด กล่าวว่า แม้ว่าในระยะสั้นเรื่องนี้จะกระทบเศรษฐกิจแน่นอน แต่เราต้องเลือกชีวิตประชาชนต้องมาก่อน ถ้าหยุดการแพร่ระบาดได้จากนี้ไปการฟื้นตัวก็ทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าหลุดไปไม่ได้ และลากยาวไปอีก ตอนนั้นหนักแน่นอน ดังนั้นในวันนี้เราต้องยอมเสียสละในระยะสั้น โดยประชาชนต้องให้ความร่วมมือขอให้อยู่กับบ้าน ติดต่อกันให้น้อย ดูแลตัวเอง ฝ่ายค้านก็ต้องให้ความร่วมมือ เพราะถ้าฟื้นได้เร็ว การฟื้นเศรษฐกิจปลายปีก็ทำได้เร็ว ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นเวลาสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน

ถึงอย่างไรก็ตาม จากนี้ยังมีมาตรการออกมาเรื่อยๆ หลังจากรัฐบาลออกมาตรการมาแล้วชุดแรกมาช่วยผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เลิกจ้างงาน และชุดที่ 2 ออกมาดูแลลูกจ้าง ซึ่งกระทรวงการคลังจะติดตามความต้องการของประชาชนตลอดเวลา หากขาดตรงไหนจะออกมาเป็นมาตรการเพิ่มเติมทันที และหวังว่า ในต้นเดือนเม.ย.นี้ทุกโครงการจะต้องเริ่มได้ได้ และพอจากเสร็จสิ้นในชุดที่ 2 แล้วในเดือนเม.ย.-ก.ค.นี้ เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง รัฐบาลออกมาตรการอีกชุดมาช่วยเหลือเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน

 

Cr. ข่าวสด