เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อเป็นการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า โดยคาดว่าชุดมาตรการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมี.ค.2563

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ จะเน้นดูแลเรื่องความเชื่อมั่นผ่านการสนับสนุนการอุปโภคบริโภค โดยจะเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบผ่านการใช้จ่ายจากสวัสดิการที่รัฐบาลมอบให้ และยังมีมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

โดยจะจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีรายได้มากขึ้น ดูแลผ่อนภาระทางการเงินให้ ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการดูแลพนักงาน ลูกจ้างให้ยังมีงานทำ ไม่ตกงาน การผ่อนภาระทางการเงินด้านอื่นๆ โดยทั้งหมดจะออกมาเป็นแพ็กเกจ

“ผมตั้งใจว่าหากมีมาตรการออกมาก็อยากจะให้มีผล ดังนั้นจะใช้เม็ดเงินในการดำเนินการพอประมาณ โดยขนาดของมาตรการก็มีผลเช่นกัน อยากให้ปัง แต่จะปังหรือไม่ต้องรอดู เพราะในรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ยังทำไม่เสร็จ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าจะแจกเงินให้ประชาชนหรือไม่ ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดจึงอยากให้ผ่านครม.ก่อน”นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ยังสั่งการไปยังส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ให้เตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือนครึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้ โดยประเมินว่าภายในเดือนพ.ค.2563 จะสามารถเบิกจ่ายได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ภายหลังการหารือร่วมกันกับ EU-ASEAN Business Council (EU-ABC) ว่า ต่างชาติยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการลงทุนในประเทศไทยถือเป็นโอกาส แม้ว่าขณะนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จากมาตรการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่าไทยมีความพร้อม และเมื่อปัจจัยลบต่าง ๆ คลี่คลายไป ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะลงทุนได้ในระยะยาว

สำหรับกรณีที่บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ได้ประกาศว่า จะถอนธุรกิจรถยนต์เชฟโรเลตออกจากตลาดของไทยภายในสิ้นปี 2563 ว่า เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงแสดงความสนใจและตั้งใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า

“เชื่อว่าเป็นแผนงานของบริษัทที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศอื่นที่บริษัทมีการลงทุนก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้สำหรับธุรกิจข้ามชาติที่บางทีจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในบางประเทศ เป็นเรื่องของบริษัทในการปรับตัว” นายอุตตม กล่าว