เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ประเด็นน่าสนใจ
1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564
2. อยู่ที่จำนวน 202,704.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,388.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5
3. พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิ์การรักษาเพิ่มเติมจากเดิม

วานนี้ (6 มกราคม 2563) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุมขอความเห็นชอบร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 ตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติต่อไป

หลังการประชุม นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ ภาพรวมของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ปี 2564 ที่บอร์ด สปสช.เห็นชอบในวันนี้ อยู่ที่จำนวน 202,704.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,388.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5

งบค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 183,574.24 ล้านบาท ดูแลประชากร 47.6 ล้านคน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 3,853.04 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิ์ เพิ่มขึ้น 253.04 บาท

งบค่าบริการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว เสนอจำนวน 19,129.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,823.84 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการใน 6 กลุ่มบริการ ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์, ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง, ค่าบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดัน และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน, ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนใต้, ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับบริการะดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจัยที่ทำให้งบประมาณกองทุนบัตรทองปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อทั้งในส่วนของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ยาและเวชภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น การปรับบริการให้ชัดเจน และการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 กองทุนบัตรทองมีสิ่งใหม่เพิ่มเติม ดังนี้

เพิ่มความเข้มแข็งของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่

1.คัดกรองโรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ในหญิงตั้งครรภ์

2.ตรวจคัดกรองตรวจภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) ในทารกแรกเกิด

3.คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้กับประชากรทุกสิทธิ

4.สนับสนุนติดตามพัฒนาการเด็กไทยโดยเพิ่มสมุดติดตามประเมินพัฒนาการเด็ก

5.แว่นตาสำหรับเด็กที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่ามีปัญหาสายตา

6.ฉีดวัคซีนรวม หัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1.5 ปี

7.นำร่องบริการยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) และเพิ่มการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันเอดส์

เพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้แก่

1.เพิ่มบริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรมเอกชน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟันและถอนฟัน

2.บริการฉุกเฉินนอกเวลาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ

3.เพิ่มบริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจากพ้นระยะฉุกเฉินในโรคหลอดเลือดสมอง, บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บไขสันหลัง

4.บริการกรณีโรคหายาก จัดระบบให้มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

5.บริการฝังเข็มสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

6.บริการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (automate)

7.บริการเชิงรุกดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในชุมชน

8.บริการฟื้นฟูสุขภาพที่ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพคนพิการ