เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แม่ค้าพ่อค้าเมืองประจวบฯ โวยนโยบาลลดถุงพลาสติกทำตลาดสดค้าขายลำบาก เพราะอาหารสดหลายอย่างจำเป็นต้องใส่ถุง พอพกถุงผ้า หรือ ภาชนะมาเองก็ซื้อได้ปริมาณจำกัด ตั้งคำถามแก้ปัญหาผิดจุดหรือไม่
น.ส.สุนิสา บริบูรณ์นุกูลกิจ อายุ 28 ปี แม่ค้าขายกะทิในตลาดสดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ขายกะทิตั้งแต่รุ่นแม่กว่า 25 ปี กล่าวว่า ที่ร้านขายกะทิสด เมื่อลูกค้าสั่งซื้อแต่ละครั้งต้องใช้ถุงร้อนแบบขุ่น หรือ ถุงไฮเดนท์ ที่มีความเหนียวทน ใส่หัวกะทิหนึ่งถุง หางกะทิหนึ่งถุง และถุงหิ้วอีกหนึ่งถุง รวมทั้งหมดเป็น 3 ถุง หากให้ลูกค้าเตรียมภาชนะมาเองเป็นเรื่องยาก และไม่รู้ว่าจะใช้อะไรใส่กะทิที่เป็นของเหลว จึงลำบากทั้งคนขายและคนซื้อ และลูกค้าหลายรายยังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้ใส่ถุงพลาสติก

นอกจากนี้ ภายในร้านจำเป็นต้องใช้ถุงร้อนสำหรับของแบ่งขาย เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว ถั่วลิสง พริกแกง ส่วนกะทิหากเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อไปประกอบอาหารขาย เช่น แกงกะทิ หรือ ขนมหวาน จะต้องใช้ถุงขนาดใหญ่ ใส่น้ำกะทิหนัก 5 – 10 กิโลกรัม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาภาชนะมาใส่เอาเอง และยังจำเป็นต้องใส่ถุงหิ้วชนิดหนา เนื่องจากร้านมีบริการลูกค้าส่งของถึงที่

นายโสภณ อวยสินป์ อายุ 50 ปี พ่อค้า ลูกชิ้นทอด กล่าวว่า ตนต้องซื้อวัตถุดิบจากแม่ค้าในตลาดสดทุกวัน วัตถุดิบหลายรายการรวมแล้ววันละ 10 กิโลกรัม และต้องเดินทางไกลไปกลับครั้งละ 40 กิโลเมตร ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มลูกชิ้น ไส้กรอก มาจากโรงงานทุกชนิด ก็ทำจากพลาสติก จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ใส่ถุง รวมถึงถุงหูหิ้ว เมื่อซื้อของหลายๆอย่าง ก็ต้องใส่รวมกัน มิเช่นนั้น อาจหล่นระหว่างทางหรือสูญหายได้ หากบังคับไม่ให้ใส่ถุงพลาสติก คงต้องหากระสอบป่านมาใช้ เพราะใส่ของได้เยอะ

ทั้งนี้ แม่ค้าในตลาดสดทุกรายจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก ทั้งชนิดถุงร้อน ถุงเย็น และถุงหูหิ้ว โดยมีร้านค้าจำหน่ายถุงสำหรับใส่อาหาร และถุงหิ้ว หลายขนาด ซึ่งลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าต้องนำของบรรจุในถุงเพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย พร้อมทั้งชี้ว่า นโยบายลดถุงพลาสติกกระทบทั้งคนซื้อและคนขาย แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง คือ ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่ง เพราะสามารถประหยัดต้นทุนค่าถุงพลาสติกได้มาก ขณะที่แม่ค้าในตลาดสด หรือตามร้านทั่วไป ยังจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก หากภาครัฐจะแก้ปัญหา ควรมีที่ทิ้งขยะรองรับปริมาณขยะให้เพียงพอ หรือการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี.