เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

การประชุมคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ครั้งที่ 2/2562 ได้มีการอนุมัติแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสาร 2 สาย คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2562

โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ช่วงเวลา 09.00-17.00 น. และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งวัน ให้มีการจัดโปรโมชั่นอัตราค่าโดยสารแพงสุด 20 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บ 14-42 บาท โดยใช้ได้ทั้งบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token)

เดินทางเข้าสถานีแรกคิดค่าแรกเข้า 14 บาท

เดินทาง 1 สถานี คิดค่าโดยสาร 17 บาท

เดินทาง 2 สถานีขึ้นไป 20 บาทตลอดสาย

ส่วนโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อนุมัติให้จัดโปรโมชั่นเดินทางแบบ 30 วัน ซึ่งสามารถใช้เชื่อมต่อการเดินทางร่วมกับสายสีม่วง ทำให้ค่าโดยสารที่เกิดจากการเชื่อมต่อตลอดสายถูกสุดอยู่ที่ 47 บาทต่อเที่ยว จากปัจจุบันการเดินทางเชื่อมต่อ 2 สายมีอัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 70 บาท โดยใช้ได้เฉพาะบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป บัตรโดยสารธุรกิจ และบัตรร่วมธุรกิจ

จำนวน 15 เที่ยว ราคา 780 บาท

จำนวน 25 เที่ยว ราคา 1,250 บาท

จำนวน 40 เที่ยว ราคา 1,920 บาท

จำนวน 50 เที่ยว ราคา 2,350 บาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรม ทางหลวง ในฐานะประธานบอร์ด รฟม. กล่าวว่า การลดค่าโดยสารดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจร และมลพิษ เบื้องต้นคาดว่าแนวทางลดค่าโดยสารดังกล่าวจะจูงให้ประชาชนเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 12%ในช่วงเวลา Off Peak จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,000 คนต่อวัน และจูงใจให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 2 สายเพิ่มขึ้นอีก 10% จากปัจจุบันมีการเดินทางเชื่อมต่อประมาณ 40,000 คนต่อวัน โดยจะมีการจัดโปรโมชั่น 3 เดือน ก่อนประเมินผลว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ ซึ่งหากประชาชนมาเดินทางได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะเสนอให้มีการขยายเวลาต่ออีก

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การลดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว รฟม. ไม่ต้องมีการจ่ายชดเชยให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และผู้รับจ้างเดิยรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากเป็นความยินดีร่วมมือจากบริษัทเอกชน

นอกจากนี้ ย้ำว่าในส่วนของการลดอัตราค่าโดยสารลดไฟฟ้าสายสีม่วงลง จะไม่ส่งผลให้รฟม.ขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเมินว่าผู้โดยสารจะมาใช้บริการเพิ่มขึ้น และจะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารชดเชยในส่วนที่ลดไปได้