เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 16 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตลำใหม่ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พล.ร.ท.วราห์ แทนจำ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมข้าราชการทหารเรือ เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.อ.ญ.กัลยกร นาควิจิตร ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นแท่นพิธี ทรงยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า 10 นาฬิกา ของทิศหัวเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด

 

 

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ขณะนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภายในห้องศูนย์ยุทธการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกจากห้องศูนย์ยุทธการ ไปยังห้องโถงนายทหาร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ น้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (จำลอง) พล.ร.อ.ชุมศักดิ์ นาควิจิตร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้าฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก

พล.ต.อนุพงษ์ ทะปะสพ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการทูลเกล้าฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี น.อ.สมิทนัท คุณวัฒน์ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดที่ระลึก ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย

จากนั้น เสด็จออกจากห้องโถงนายทหารเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ไปยังแท่นพิธี เสด็จขึ้นแท่น ทรงยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด แล้วเสด็จออกจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จฯ กลับ

 

 

สำหรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กองทัพเรือดำเนินการจัดหาจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อใช้ในภารกิจการป้องกันประเทศและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะเวลาดำเนินโครงการ ระหว่างปีงบประมาณ 2556 – 2561 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 14,600 ล้านบาท โดยกองทัพเรือว่าจ้างบริษัท DaewOo Shipbuilding & Marine Engineering หรือ DSME ดำเนินการสร้างเรือ ณ อู่ต่อเรือบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2561 ทางบริษัท DSME ได้ส่งมอบเรือ โดยกำลังพลประจำเรือนำเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ออกเดินทางกลับประเทศไทยมาถึงท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2562

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช หมายเลขเรือ 471 จัดเป็นเรือรบประเภท เรือฟริเกต ขึ้นการบังคับบัญชากับกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ จัดเป็นเรือรบชั้น 1 ของกองทัพเรือ มีกำลังพลประจำเรือ 141 นาย ได้รับการออกแบบและสร้างเรือโดยใช้มาตรฐานทางทหารของกองทัพเรือชั้นนำ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combined Diesel and Gas Turbine) ทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 30 นอต มีระยะปฏิบัติการในทะเลที่ความเร็ว 18 นอต มากกว่า 4,000 ไมล์ทะเล มีความคงทนทะเลสูงถึงภาวะทะเลระดับ 8 หรือความสูงคลื่น อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงไม่น้อยกว่า 21 วัน คุณลักษณะของเรือถูกออกแบบโดยใช้ Stealth Technology เพื่อลดขนาดพื้นที่หน้าตัดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ ลดการแผ่รังสีความร้อนจากตัวเรือ และลดการแพร่ คลื่นเสียงใต้น้ำ ทำให้ยากต่อการถูกตรวจจับและพิสูจน์ทราบ

 

 

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบทางเรือทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การรบผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ รวมทั้งยังมีขีดความสามารถโจมตีที่หมายชายฝั่งด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี โดยสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 10 ตัน ไปกับเรือได้ 1 ลำ เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบ S – 70B Sea Hawk หรือ แบบ MH 60S Knight Hawk เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการในทะเล นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถตรวจการณ์และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทุกมิติ ทุกระยะ ด้วยอุปกรณ์ตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำและอากาศแบบ AMB – EP เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกลแบบ AMB ER โซนาร์แบบ DSQS – 24C โซนาร์ ลากท้ายแบบ ACTAS – 20 ระบบดักรับการแพร่คลื่นเรดาร์ R-ESM และระบบดักรับการแพร่คลื่นวิทยุ C-ESM เป็นต้น

ในส่วนของระบบอาวุธได้รับการติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ปืนหลักแบบ 76/62 SuperRapid Multi-Feed ปืนกลรองแบบ 30 มม. MSI อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ Harpoon Block II อาวุธ ปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ ESSM ระบบป้องกันตนเองระยะประชิดแบบ Phalanx ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแบบ MK 54 และระบบแท่นยิงเป้าลวงต่อต้านอาวุธปล่อยนำวิถีและตอร์ปิโด แบบ Soft Kil Weapon System (SKWS) DL-12T และ แบบ MK 137
สำหรับหัวใจในการบริหารจัดการการรบ หรือ Combat Management นั้น เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการติดตั้งระบบอำนวยการรบ SAAB 9LV MK 4 ที่ใช้เป็น มาตรฐานในเรือรบหลักของกองทัพเรือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี หรือ Tactical Data Link กับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงจักรีนฤเบศร รวมถึงเครื่องบินตรวจการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า SAAB 340 AEW8C Erieye และเครื่องบินขับไล่ JAS – 39 Gripen ของกองทัพอากาศ จึงทำให้ทุกหน่วยในพื้นที่การรบสามารถเห็นและเข้าใจภาพสถานการณ์เดียวกัน เป็นการทวีกำลังขีดความสามารถการรบให้กับกองทัพส่งผลให้การปฏิบัติการร่วมในลักษณะกองเรือ Battle Group และการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

นอกจากขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบแล้ว เรือลำนี้ยังมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามได้หลากหลายภารกิจเช่นกัน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายในทะเล การตรวจค้นเรือต้องสงสัย ด้วยเรือ RHIB ที่มีความเร็วสูงมากกว่า 40 นอต 2 ลำ การต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล ด้วยการใช้เป็นกองบัญชาการของส่วนควบคุมชุดปฏิบัติการพิเศษและเป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ ตลอดจนการปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ด้วยการใช้ระบบอำนวยการรบและระบบเดินเรือแบบรวมการวิเคราะห์ทิศทางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือผู้ประสบภัยในทะเล การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันการเคลื่อนที่ของกลุ่มก๊าซที่ลอยในอากาศ

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ยังถูกออกแบบให้มีขีดความสามารถในการอยู่รอดขณะปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารนิวเคลียร์ เคมี และชีวภาพ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รวมทั้งการปรับใช้พื้นที่ในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่มีระบบปรับอากาศรองรับ เป็นที่พักชั่วคราวของผู้ประสบภัย ตลอดจนการสนับสนุนการส่งกลับทางสายแพทย์ หรือ MEDVAC จากพื้นที่ประสบภัยบนฝั่งมายังเรือ หรือจากเรือในทะเลไปยังโรงพยาบาลบนฝั่ง