เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 มีรายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยสถิติภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ว่า ในปี 2561 พบว่าคนไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,137 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า และพบว่าวัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 นอกจากนี้ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 คนต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 คน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

สำหรับสาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7, ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9, ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36 ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่ามีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6, มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตัวเอง ร้อยละ 6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45, โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตัวเองซ้ำ ร้อยละ 12

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควัน จึงห่วงว่าอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ในปี 2540-2560 พบว่า มีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีการรมควัน เพียงประมาณร้อยละ 0.1 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยในส่วนของสื่อมวลชนขอให้ใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยให้นำเสนอเป็นภาพกว้างของเหตุการณ์ และเน้นแนวทางการรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้าง ตลอดจนเพิ่มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต แต่ให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวและวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด รวมถึงการนำเสนอข่าวซ้ำๆ เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบและเพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวย้ำว่า บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ควรคอยสังเกตสัญญาณเตือน โดยให้ระลึกไว้เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยง หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุย ช่วยเหลือและรับฟัง พร้อมแนะนำให้ใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. ดังนี้

          1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตัวเองออกจากสังคม

2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจ เป็นวิธีการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก

3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น แนะนำให้โทร. ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร. ปรึกษาสะมาริตันส์ 02-713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอปพลิเคชันสบายใจ (Sabaijai) ตลอดจนแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุข หรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

 

ภาพและข้อมูลจาก Thai PBS