เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

โลกของเราคงจะน่าอยู่มากขึ้น ถ้าไม่มีคนที่คิดว่าตัวเองพิเศษกว่าใครๆ เคารพในความเห็นต่าง หลากหลาย รู้จักแบ่งปัน ไม่เหยียดยามดูถูกคนอื่น ขอให้เชื่อเถอะว่าคนทุกคนเท่าเทียม มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้

ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ขอให้เขาได้โอกาสหน่อยเดียวเท่านั้น ให้โอกาสกับชีวิตเขา แล้วเขาจะทำได้ทุกอย่าง นี่เป็นความคิดของนักข่าวสังคมอย่างผม ที่มีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

ซึ่ง ‘โอกาส’ ที่ว่านั้นไม่มีโอกาสใดสำคัญมากเท่ากับโอกาสทางการศึกษาของคน แต่ดูเหมือนว่าความคิดของผมจะสวนทางกับแนวทางการสร้างโรงเรียนอีลีท หรือโรงเรียนที่คัดเฉพาะเด็กเก่ง ระดับหัวกะทิ เข้าไปเรียน ซึ่งเป็นแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุด ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่เป็นข่าวมาเมื่อสองสามวันที่แล้ว

ความคิดการสร้างโรงเรียนอีลีท หรือโรงเรียนเฉพาะเด็กเก่งนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกวันนี้บางโรงเรียนเราก็ได้เห็นถึงการคัดเลือกเด็กที่จะเข้าไปเรียนอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว และนั่นทำให้ทุกคนพูดถึงวงการศึกษาของไทยว่ามีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำมากที่สุด

ผมเข้าใจว่าความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะตั้งโรงเรียนที่สอบเข้า 100% เพราะว่าต้องการจะสร้างบุคลากร ที่เป็นหัวกะทิแนวหน้าในการพัฒนาประเทศ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการในวงการศึกษาทั่วไปว่าจะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ และไม่ใช่แนวทางการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง

การพัฒนามนุษย์ ที่ดีที่สุดคือการให้โอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนนี้อาจมีแนวคิดที่สวนทาง สะท้อนจากข่าวตั้งโรงเรียนอีลีทใช่หรือไม่?

เพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว และยิ่งคนคิดเป็นระดับรัฐมนตรีศึกษาฯ สังคมจะมองด้วยความเหนื่อยใจ หมดความหวัง กับการศึกษาไทยในยุครัฐบาลนี้ โดยเฉพาะผมรู้สึกผิดหวังอย่างมาก

จริงอยู่ ที่เราพูดถึงลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม แต่จริงๆบนโลกใบนี้ไม่มีความเท่าเทียม แม้แต่นิ้วคนเรายังไม่เท่ากัน แต่ในฐานะรัฐ ไม่ควรจะมีทัศนคติเช่นนี้

หน้าที่ของรัฐควรให้โอกาสพลเมืองอย่างทั่วถึง และบางรัฐไม่ใช้วิธีการสงเคราะห์ด้วยซ้ำไป แต่ใช้วิธีการให้สิทธิ์ และหลักประกันที่ถ้วนหน้า

และมันจะยิ่งยุ่งยากไปอีกเมื่อความเหลื่อมล้ำเกิดจากแนวนโยบายของรัฐเสียเอง ความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบ 50 ต่อ 50 แต่มันจะเกิดขึ้นแบบ 10 ต่อ 90

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘การศึกษาคือการลงทุน’ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยที่โรงเรียนชั้นนำจะมีแต่ลูกคนรวยเข้าไปเรียนเป็นส่วนใหญ่

แล้วถ้ามีโรงเรียนที่คัดเฉพาะเด็กเก่งที่ต้องสอบเข้า 100% เด็กที่ครอบครัวมีต้นทุนที่จะส่งเสริมให้ลูกได้เรียนหนังสือกวดวิชาตั้งแต่เล็ก ก็จะมีโอกาสเข้าไปโรงเรียนดังกล่าว มากกว่าเด็กชนบทต่างจังหวัดทั่วไป

ซึ่งปัญหาแบบที่ว่านี้ก็มีให้เห็นมากพออยู่แล้วในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน และอีกมิติหนึ่งของโรงเรียนชนชั้นนำที่คัดเด็กเก่งไปอยู่รวมกัน ก็จะมีปัญหาในมิติเชิงสังคม เพราะโลกความจริง สังคมมีความหลากหลาย การที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันตินั้น มันเริ่มต้นจากการเคารพความหลากหลาย

แต่ถ้าในโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยสังคมย่อย เป็นสังคมจำลองของเด็กๆ ที่อนาคตจะต้องไปอยู่สังคมใหญ่ ได้เรียนรู้ได้เจอแต่ เพื่อนๆที่มีลักษณะครอบครัวคล้ายคล้ายกัน รวยพอๆกัน เก่งเหมือนๆกัน นอกจากภาวะที่ต้องแข่งขันกันเองสูงแล้ว ในที่สุดก็จะไม่สามารถมองถึงคนที่ด้อยกว่า หรือเห็นอกเห็นใจกับคนอื่น เลวร้ายที่สุดอาจมีปัญหาด้านการแบ่งปัน หรือการมีน้ำใจ ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ เรื่องเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ หากมีการคัดเด็กเข้าไปอยู่ในสังคมที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเช่นว่านั้น

โลกของเราคงจะน่าอยู่มากขึ้น ถ้าไม่มีคนที่คิดว่าตัวเองพิเศษกว่าใครๆ เคารพในความเห็นต่าง หลากหลาย รู้จักแบ่งปัน ไม่เหยียดยามดูถูกคนอื่น ขอให้เชื่อเถอะว่าคนทุกคนเท่าเทียม มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้

ที่มา – วชิรวิทย์