เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีน้ำตาล เดอะสตาร์ 5 เสียชีวิตหลังจากมีอาการเลือดออกปากออกจมูกภายในไม่กี่วัน ทำให้มีข้อกังขาว่าสาเหตุการเสียชีวิตของดาราสาวคืออะไรกันแน่ กระทั่งแพทย์มีการแถลงผลตรวจชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของสาวน้ำตาล ซึ่งพบว่า น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 เสียชีวิตด้วยวัณโรคหลังโพรงจมูก และแม้โรคนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่อย่างน้อยก็อยากให้ทำความรู้จักวัณโรคหลังโพรงจมูกเอาไว้ เพราะใคร ๆ ก็เป็นโรคนี้ได้

วัณโรคหลังโพรงจมูก คืออะไร

วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อวัณโรค หรือเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ซึ่งคาดกันว่ามีผู้ติดเชื้อนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก แต่อาจไม่ได้แสดงอาการป่วย ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยวัณโรคสามารถติดต่อได้ทางละอองอากาศ และส่วนมากวัณโรคจะพบได้ที่ปอด เพราะการติดเชื้อจะติดทางลมหายใจ เข้าสู่ปอด ส่วนใหญ่ปอดจึงเป็นอวัยวะที่ติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายที่สุด

ทว่าวัณโรคก็เกิดได้กับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน เรียกว่า วัณโรคนอกปอด เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคกระดูกสันหลัง วัณโรคในช่องปาก หรือวัณโรคในโพรงจมูก เป็นต้น โดยอาจลุกลามจากปอดไปสู่ระบบน้ำเหลือง กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเชื้อที่ก่อวัณโรคในอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย แพทย์จะเรียกว่าเชื้อโรคเลียนแบบ (Great Imitator) เพราะเชื้อนี้สามารถเลียนแบบโรคอื่น ๆ ได้หลายโรค ทั้งนี้กรณีเป็นวัณโรคนอกปอด อย่างเช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก มักไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลปี 2560 พบคนไทยป่วยวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน โดยร้อยละ 83 เป็นวัณโรคปอด ร้อยละ 17 เป็นวัณโรคนอกปอด ขณะที่วัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1

วัณโรคหลังโพรงจมูก อาการเป็นอย่างไร

ที่เราบอกว่าวัณโรคหลังโพรงจมูกเป็นภัยเงียบตัวร้าย ก็เพราะว่าผู้ป่วยวัณโรคหลังโพรงจมูก 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ ที่แสดงว่าป่วยวัณโรคหลังโพรงจมูกอยู่ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง

ทว่าเพื่อความไม่ประมาทต่อสุขภาพ  หากมีอาการในลักษณะนี้หลาย ๆ ข้อ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าติดเชื้อวัณโรคได้ ควรรีบไปตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยด่วน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของโรควัณโรคที่เชื้ออาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้

– มีไข้ต่ำ ๆ คล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หรือตอนกลางคืน

– ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนไม่สบาย

– อ่อนเพลีย

– เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยลง

– น้ำหนักลด

– เหงื่อออกตอนกลางคืน

– อาจมีอาการไอเป็นเลือด ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ในผู้ป่วยวัณโรคระยะลุกลาม

วัณโรคหลังโพรงจมูก ใครเสี่ยงบ้าง

วัณโรคเป็นโรคที่ทุกคนเสี่ยงเป็นได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะหากไปสัมผัสหรืออยู่ในที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคแพร่เชื้อให้ ทั้งนี้กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นวัณโรคได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ก็คือ

  • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ชนิดต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด
  • ผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยโรค HIV

วัณโรคหลังโพรงจมูก รักษาอย่างไร

การรักษาวัณโรคในปัจจุบันสามารถใช้ยารักษาวัณโรคซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยระยะแรกของการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย หากมีอาการดีขึ้นแล้วแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาดแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะรักษาได้ยากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น ไอเป็นเลือดจำนวนมาก มีภาวะอากาศรั่วเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้อวัณโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือด เคสหนักแบบนี้ก็จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

วัณโรคหลังโพรงจมูก ป้องกันได้ไหม

เราสามารถป้องกันวัณโรคได้ ดังนี้

– ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

– ตรวจสุขภาพประจำปีอย่าให้ขาด

– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

– หมั่นเช็กอาการผิดปกติของร่างกาย โดยหากพบว่ามีไข้ต่ำ ๆ ไม่หาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ แม้จะเกิดเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรรีบไปตรวจสุขภาพโดยด่วน

ความเสี่ยงในการเกิดโรควัณโรคหลังโพรงจมูกอาจมีไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นการหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าละเลยอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ของทั้งตัวเองและคนใกล้ตัวด้วยนะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รามา ชาแนล
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์