เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 14 มิ.ย. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอคิดด้วย…ได้ไหมครับ ผมได้ฟังคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ซึ่งรัฐสภาประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยประเด็นสำคัญ พรรคฝ่ายค้านได้กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ เพราะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็น เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ การโต้แย้งยังไม่มีข้อสิ้นสุด แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นเหมือนกับฝ่ายค้านที่อภิปรายในสภาฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยผมขออ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ซึ่งตัดสินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ในหัวข้อที่ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมบัติ หรือ บก.ลายจุด บุญงามอนงค์ เป็นจำเลยในความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณี จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

เรื่องนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ได้ตัดสินหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่า คสช. ไม่มีอำนาจเรียกตนไปรายงานตัว แต่ศาลทั้งสองได้ตัดสินว่า คสช. มีอำนาจเรียกจำเลยไปรายงานตัวได้ เพราะ คสช. เป็น รัฏฐาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีอำนาจดังกล่าว

ต่อมา ศาลฎีกา ได้พิพากษาว่า การที่จำเลยต่อสู้ว่า คสช. ไม่มีอำนาจ นั้น ศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยแล้ว การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว คสช. จึงเป็น รัฏฐาธิปัตย์ จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อ คสช. ได้

ศาลมีข้อสรุปที่น่าสนใจ กล่าวคือ การยึดอำนาจของ คสช. ไม่มีผู้ต่อต้านและได้แต่งตั้งผู้บริหารบางส่วนแล้ว จึงนับว่าเป็นการปฏิวัติสำเร็จลุล่วง บางส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา ได้ระบุว่า คสช. ได้มีคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัวต่อ คสช. ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.00 น. โดยกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามกำหนดไว้ด้วย

พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่มารายงานตัวต่อ คสช. จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลย ว่า กระทำความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรค 1 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวตามสมควร จึงนับว่ามีความผิด

เมื่อ คสช. มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว คำสั่งของ คสช. ที่ให้จำเลยมารายงานตัว จึงเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรค 1 โดยศาลฎีกา ยังระบุว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก คสช. ปฏิวัติสำเร็จเป็น รัฏฐาธิปัตย์ แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กกต. มีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าพนักงาน และไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน

ซึ่งเรื่องนี้หากจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายจะต้องรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุด และเหตุที่ลงโทษจำเลยเพราะศาลฎีกาพิจารณาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีอำนาจเรียกจำเลยมารายงานตัว

ส่วนตัว ผมมีความเห็นว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านมีเหตุผลตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาเช่นนี้ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง และคำพิพากษาดังกล่าว

จึงสรุปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าพนักงาน ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวตามสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา