เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

กระทรวงแรงงาน เดินหน้าฝึกอาชีพ พ่อครัวบนเรือ หวังป้อนเรือสำราญ-เรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ตลาดแรงงานต้องการเป็นจำนวนมาก พร้อมดันครัวไทย สู่ครัวโลก

 

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า คนครัวบนเรือ เป็นตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการมีความต้องการสูงมาก อีกทั้งเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ เรือพาณิชย์ เรือท่องเที่ยว ขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทะเล 2006 (Maritime Labor Convention: MLC 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และคนครัวบนเรือต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือ ต้องผ่านมาตรฐานการฝึกอบรมและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่ กพร. กำหนด

ทั้งนี้ความต้องการของผู้ประกอบการ และแรงงานที่สนใจไปทำงานบนเรือสำราญ และเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ มีแรงจูงใจจากรายได้ที่สูง หากเป็นเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ จะมีรายได้ตั้งแต่ 40,000-90,000 บาท/เดือน ซึ่ง กพร.ได้ดำเนินการฝึกอบรมมาแล้วหลายรุ่น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลก และขับเคลื่อนนโยบาย 3A กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน เป็นแรงงานคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

 

ล่าสุด กพร.จึงดำเนินการจัดอบรม สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ (Food and Catering) ขึ้น โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการฝึกอบรมแล้วจำนวน 4 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมรวม 81 คน ซึ่งรุ่นที่ 4 อบรมระหว่างวันที่ 21-26 พ.ค. 2562ที่ผ่านมา มีผู้เข้าอบรมจำนวน 21 คน ณ วิทยาลัยแรงงาน

นอกจากนี้ยังประกาศรับสมัครอบรม สาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ อีก 2 รุ่น กำหนดเปิดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 23 – 28 ก.ค.2562 และวันที่ 17 – 22 ก.ย. 2562 ระยะเวลาการฝึก 42 ชั่วโมง ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ภายใต้หัวข้อความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหาร ทักษะการประกอบอาหาร การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โภชนาการและสุขภาพ การจัดการและการควบคุมดูแลครัว การจัดการของเสียในครัว มุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม

 

สำหรับผู้สมัครฝึกอบรมต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้น ม.3 หรือมีประสบการณ์การทำงานบนเรือเดินทะเลของรัฐหรือเอกชนไม่น้อยกว่า 6 เดือนในช่วงเวลา 5 ปีก่อนเข้ารับการฝึกอบรม หรือสำเร็จการศึกษาด้าน คหกรรมศาสตร์อาหารและโภชนาการหรือวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ หรือมีประสบการณ์การฝึกอบรมเกี่ยวกับการประกอบอาหารไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง หรือมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการประกอบอาหารไม่น้อยกว่า 1 ปี

ข้อมูลกระทรวงแรงงาน