เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโหวตจากทั้งสองสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

ไอลอว์ ได้นำเสนอ 10 เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรอ้างว่าเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในการเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไป ความว่า

1. ประยุทธ์ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเอง และตัวเองขาดคุณสมบัติ

ในการเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้แม้แต่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เคยทำกิจกรรมร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่เคยไปลงพื้นที่พบปะประชาชน ไม่เคยขึ้นเวทีดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ ไม่เคยเป็นตัวแทนของพรรคที่ประกาศว่า พรรคนี้ให้สัญญาอะไรกับประชาชน มีเพียงการขึ้นเวทีครั้งสุดท้ายครั้งเดียวก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะถูกเสนอชื่อไว้ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองด้วย เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. กับอีกหลายเก้าอี้และมีอำนาจเต็มในการออกคำสั่งต่างๆ

รวมทั้งมีอำนาจ “มาตรา44” ในมือ จึงขัดต่อคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89, 98, 160

2. ประยุทธ์ถืออำนาจเต็ม เป็นหัวหน้า คสช. ระหว่างการเลือกตั้ง

ระหว่างการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือลาออกจากอำนาจที่มีอยู่ในมือ อย่างน้อยก็ลาออกแล้วทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจไม่ใช้อิทธิพลใดๆ เหนือการเลือกตั้ง

แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับทำตรงกันข้าม ที่สำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ยังถืออำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ที่จะออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ และก็ได้ใช้อำนาจนี้สั่งเพื่อเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้งไปอย่างน้อยสามครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560: ปลดล็อคให้พรรคใหม่-รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเก่า

ครั้งที่ 2 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561: ยกเลิกไพรมารีโหวต-ห้ามหาเสียงออนไลน์-ขยายเวลาให้พรรคการเมือง

ครั้งที่ 3 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561: สั่งให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ หาก คสช. หรือ รัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียน

3. การเลือกตั้งที่ผ่านไป คสช. เขียนกติกาเอง ให้ตัวเองได้เปรียบ

ระบบการเลือกตั้งและกติกาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญนั้น เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ รายละเอียดที่ต้องเขียนไว้ใน “กฎหมายลูก” ทั้งพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ต่างก็เขียนขึ้นโดย กรธ. ชุดเดิม และผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้งมาเองอีกเช่นกัน

จึงกล่าวได้ว่า กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้เขียนขึ้นโดยคนของ คสช. ทั้งหมด

ระบบเลือกตั้งใหม่ที่ตั้งชื่อว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” หรือ MMA เขียนขึ้นมาเพื่อให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตจำนวนมากเสียเปรียบ คือ ความจงใจทำลายพรรคเพื่อไทย โดยตรงและก็ได้ผลลัพธ์เช่นนั้น

นอกจากนี้ยังช่วยให้พรรคการเมืองขนาดกลางๆ ได้เปรียบและอาจได้จำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็เคยพูดไว้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา”

4. การเลือกตั้งที่ผ่านไป กกต. เป็นคนของ คสช.

คสช. ได้ออกกฎหมายเพื่อ “เซ็ตซีโร่” กกต. ชุดเก่าให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด และเริ่มการสรรหาใหม่ โดยส่งพรเพชร วิชิตชลชัย เข้าไปเป็นกรรมการสรรหาชุดใหม่ และใช้ สนช. เป็นด่านสุดท้ายที่เห็นชอบผู้สมัคร กกต. โดย สนช. ใช้การพิจารณาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกมีรายชื่อผู้สมัครเข้าเป็น กกต. จำนวน 7 คน ทั้งหมดถูก สนช. ตีตกยกชุด

ต่อมาในครั้งที่สอง สนช. เห็นชอบเลือก กกต. จำนวน 5 คน จากที่เสนอไปทั้งหมด 7 คน และตีตกไป 2 คน กระทั่งมีการสรรหาใหม่ในรอบที่สาม ซึ่งทั้งสองรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งไปได้รับการเห็นชอบจาก สนช. ทำให้ได้ กกต. ครบ 7 คน ที่พอใจ โดยทุกครั้งที่มีการลงมติเห็นชอบ สนช. พิจารณาแบบ ‘ปิดลับ’

5. การเลือกตั้งที่ผ่านไป พรรค “ไม่เอา คสช.” เจอปิดกั้นสารพัด

การเลือกตั้งภายใต้อำนาจของ คสช. ที่ผ่านไป พรรคการเมืองทั้งหลายยกเว้นพรรคของ คสช. ถูกปิดกั้นด้วยหลายวิธีการ ตั้งแต่การถูกทหารหรือตำรวจติดตามขณะลงพื้นที่ การไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดปราศรัย

รวมทั้งมีผู้สมัคร ส.ส. หลายคนถูกดำเนินคดี เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวช, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พิชัย นริพทะพันธุ์ ต่างถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการวิจารณ์พรรคพลังประชารัฐ

6. การเลือกตั้งที่ผ่านไป พรรคอันดับสองของฝ่าย “ไม่เอา คสช.” ถูกยุบ

ในระหว่างการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยแก้เกมระบบเลือกตั้งใหม่ของ คสช. โดยการแตกตัวออกเป็นพรรคขนาดกลางหลายพรรค การยุบพรรคไทยรักษาชาติทำให้พรรคการเมืองในกลุ่มนี้เสียกำลังหลักไปมาก นอกจากจะเสียผู้สมัคร ส.ส. คนสำคัญ อย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ยังเสียโอกาสได้คะแนนในเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลง ทำให้ประชาชนที่อยู่ในเขตนั้นไม่มีโอกาสลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองในกลุ่มนี้เลย และทำให้โอกาสที่จะได้คะแนนเพื่อเอาไปคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อก็น้อยลงไปด้วย

7. ผลการเลือกตั้ง พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย

ตามธรรมเนียมทางการเมืองการปกครองของไทยและทั่วโลก พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มากที่สุดจากการเลือกตั้งจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะต้องเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ มาให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของสภา

และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ 136 ที่นั่ง ลำดับสอง คือ พรรคพลังประชารัฐ 116 ที่นั่ง

8. ผลการเลือกตั้ง คะแนนดิบของพรรคที่ประกาศ “ไม่เอา คสช.” สูงกว่าเกือบสองเท่า

ถ้าหากพิจารณาจาก “คะแนนดิบ” หรือจำนวนคนที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองทั้งหมดที่ประกาศก่อนเลือกตั้งว่า “ไม่เอา คสช.” จะพบว่า พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนรวม 7,881,006 เสียง พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนรวม 6,254,716 เสียง พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนนรวม 822,240 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้คะแนนรวม 485,574 เสียง

พรรคประชาชาติ ได้คะแนนรวม 481,143 เสียง พรรคเพื่อชาติ ได้คะแนนรวม 419,121 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย ได้คะแนนรวม 79,783 เสียง พรรคเพื่อธรรม ได้คะแนนรวม 15,130 เสียง และ พรรคสามัญชน ได้คะแนนรวม 5,291 เสียง ตามลำดับ เมื่อนำคะแนนของแต่ละพรรคมานับรวมกันจะได้มากถึง 16,444,004 เสียง

อีกด้านหนึ่ง สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนก่อนเลือกตั้งว่า สนับสนุน คสช. และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนรวมมาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ 8,413,413 เสียง

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้คะแนนรวม 415,202 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูป ได้คะแนนรวม 45,374 เสียง แต่เมื่อรวมกันแล้ว คะแนนเสียงที่สนับสนุน คสช. มีเพียง 8,873,989 เสียง หรือประมาณร้อยละ 53 ของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองที่ประกาศ “ไม่เอา คสช.” ได้รับ

ดังนั้น หากจะพิจารณากันที่ “คะแนนดิบ” แล้วจึงเห็นชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ได้ออกเสียงให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

9. ผลการเลือกตั้ง ฝั่ง “ไม่เอา คสช.” รวมเสียงได้เกินครึ่งสภาก่อนถูกเปลี่ยนสูตรคำนวน

หลังวันเลือกตั้ง สื่อมวลชนทุกแห่งและนักวิชาการทุกคนนำคะแนนไปคำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้ผลไม่ต่างกัน พรรคที่ประกาศ “ไม่เอา คสช.” ทั้ง 7 พรรคการเมือง รวมเสียงกันได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 254 จาก ถือว่า พรรคพลังประชารัฐและฝ่าย “สนับสนุน คสช.” แพ้การเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้ว

แต่หลังจากวันนั้น กกต. ออกสูตรคำนวนแบบใหม่มาใช้ ทำให้เสียงของพรรคการเมืองฝ่าย “ไม่เอา คสช.” ลดลง รวมแล้วได้ 245 เสียง น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

10. หากไม่มี 250 ส.ว. จะจูงใจพรรคอื่นเข้าร่วมไม่ได้

ลำพังพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้งว่าจะ “สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี รวมกันแล้วได้ส.ส. 122 ที่นั่ง ยังไม่พอสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องเจรจาและรวมเอาพรรคการเมืองอื่นๆ อีกเข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ซึ่งสองพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเข้าร่วมอย่าง พรรคภูมิใจไทย ที่ได้ ส.ส. 51 ที่นั่ง และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้ ส.ส. 10 ที่นั่ง ต่างประกาศยอมเข้าร่วมเพราะ “เพื่อให้ประเทศเดินหน้า”

เหตุผลนี้มีเบื้องหลัง คือ ส.ว. ที่ คสช. เลือกมาเอง 250 คน นอกจากจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังมีอำนาจพิจารณาออกกฎหมาย พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ติดตามบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่าย “ไม่เอา คสช.” ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะต้องพบอุปสรรคจาก ส.ว. กลุ่มนี้อย่างแน่นอนและจะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ

ดังนั้น การที่พรรคการเมืองอื่นๆ “จำเป็น” ต้องยอมเลือกข้างพรรคพลังประชารัฐ ก็เพื่อให้การออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่พรรคต้องการผลักดันไม่ติดการขัดขวางจากกลุ่ม ส.ว. นั่นเอง

ถ้าหากฝ่าย คสช. ไม่มีกลุ่ม ส.ว. อยู่ในมือเช่นนี้ ก็มีความชอบธรรมน้อยกว่าและมีอำนาจต่อรองทางการเมืองน้อยกว่าที่จะไปชวนพรรคการเมืองอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วย