เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ากฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) นั้น ปัจจุบันทางกรมสรรพากรกำลังปรับปรุงข้อบังคับใช้ในกฎหมายร่วมกันกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้กฎหมายมีความรัดกุมในการจัดเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

“ในส่วนของหลักการของกฎหมาย กรมสรรพากรไม่ได้แก้ไข เพียงแต่เป็นปรับปรุงข้อปฏิบัติให้สามารถบังคับใช้ได้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ในเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากการนำเข้าสินค้า ซึ่งแต่เดิมผู้บริโภคในประเทศจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.36) ต่อกรมสรรพากรเมื่อนำเข้าสินค้า แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคละเลยการเข้ามาเสียภาษี ยกเว้นผู้ประกอบการที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ดังนั้นกฎหมายนี้ จะเปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างชาติที่ส่งสินค้าจะต้องคิดภาษีมูลค่าเพิ่มมาในสินค้าเลย ก่อนจะส่งภาษีในส่วนนี้กลับมาให้กรมสรรพการแทนผ่านระบบออนไลน์”

นายปิ่นสาย กล่าวว่า ทั้งนี้กรมสรรพากรไม่ได้จะมุ่งจัดเก็บภาษีจากพ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ตามกฎหมายของกรมสรรพากกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภายใน 30 วัน และจะต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง

“ ขณะที่การจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มบริการจากต่างประเทศโดยตรง อาทิ เฟสบุ๊ค (facebook)เป็นต้น นั้นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเท่านั้น และแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีการจดทะเบียนที่ต่างประเทศ ซึ่งเปิดเป็นแพลตฟอร์มให้บริการกับบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้กรมสรรพากร ได้มีการหารือกับองค์กรภาษีระหว่างประเทศแล้ว และคาดว่าเรื่องนี้ยังต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้”