เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากกรณีที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับการเผยแพร่คลิปในสื่อโซเชียล เหตุการณ์มีบุคคลอ้างเป็นข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 พูดคุยโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเรียกตรวจรถและขอตรวจดูใบขับขี่ บริเวณด่านตรวจ ทั้งมีการกล่าวอ้างความรู้จักกับนายตำรวจระดับ ผกก.ในพื้นที่ ซึ่งปรากฏข้อมูลเหตุเกิดที่ สภ.อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา และยังมีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการนั้นถูกย้ายเข้ามาทำงานใน สภ.อ.ทุ่งใหญ่ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสื่อออนไลน์

กระทั่งล่าสุด  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนั้น ในส่วนที่มีอ้างอิงถึงชายในคลิปที่ถูกเรียกตรวจว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 นั้น หลังจากทางศาลรับทราบเรื่องแล้วตามที่ปรากฏทางสื่อ

ล่าสุด (11 พ.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม โดย เลขาธิการฯ และเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้มีหนังสือแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 รายงานข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าวเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนนอกเหนือจากข้อมูลที่ปรากฏเป็นประเด็นข่าวและในโซเชียล

หากได้รับรายงานข้อเท็จจริงจาก อธิบดีพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 แล้ว จะตรวจพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันนั้นเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรบ้าง โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้ถูกพาดพิงโดยตรงในส่วนของการตรวจสอบภายในองค์กรศาล เสนอประธานศาลฎีกาและที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต.ด้วย

อย่างไรก็ดี ในการกำหนดประชุม ก.ต.นัดวาระปกติอยู่แล้ว ในเช้าวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้ ต้องติดตามว่าจะมีการนำประเด็นดังกล่าว เสนอสู่วาระการประชุม ให้ ก.ต.ทราบเรื่อง เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อมีเหตุการณ์ใดกล่าวอ้างถึงบุคคลในองค์กร ก็จะดำเนินการได้ใน 2 แนวทาง คือ 1.ผู้ที่มีชื่อถูกอ้างถึง รายงานชี้แจงข้อเท็จจริงตามลำดับชั้นบังคับบัญชาได้เองก่อน ซึ่งระดับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 การรายงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการผ่านสำนักงานศาลยุติธรรม เสนอถึงประธานศาลฎีกาได้เลย 2.กรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรม โดยเลขาธิการฯ มีหนังสือแจ้งผู้ที่ถูกพาดพิง ขอให้รายงานข้อเท็จจริงเพื่อเป็นรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนเสนอประธานศาลฎีกา และที่ประชุม ก.ต.กรณีรายงานเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับองค์กรและผู้พิพากษา ซึ่งการรายงานข้อเท็จจริงนั้นก็ถือเป็นการให้โอกาสแสดงความชัดเจนที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเป็นเรื่องที่ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นความผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หรือทางวินัยหรือไม่ ก็จะดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่ ก.ต.กำหนดต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อได้มีการติดต่อไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เพื่อจะขอสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงจาก อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 8 เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้รับแจ้งจากอธิบดีฯ ผ่านทางเจ้าหน้าที่ว่า การให้ข้อมูลข่าวต่อสื่อมวลชน สำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการทางข่าวเองต่อไป