เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่  24 เมษายน  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแจ้งการขอครอบครองกัญชาตามกฎหมายนิรโทษ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา22 แห่งพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ว่า   ข้อมูลการรับแจ้งการครอบครองกัญชา ณ วันที่  21 เมษายน 2562  แบ่งเป็น กลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 1   คือผู้ที่มีคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตได้ เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ มีจำนวน 19 ราย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 14 รายและในต่างจังหวัด 5 ราย กลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคอยู่ มีจำนวน 6,395 ราย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 1,185 ราย และในต่างจังหวัดอีก 5,210 ราย และกลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 3   คือ บุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลางก่อน และหากจะขออนุญาตต้องทำตามกฎหมาย โดยมี 1 รายที่เข้ามาแจ้ง  ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลใหม่อีกในสัปดาห์หน้า

นพ.ธเรศ  กล่าวว่า การมาแจ้งการครอบครองกัญชาตามมาตรา 22 โดยไม่ได้รับโทษ ก็อยากให้กลุ่มที่เข้าข่ายตามกฎหมายให้รีบมาแจ้งภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562  หากเกินกำหนดจะไม่สามารถมาแจ้งได้อีก แต่ในกรณีผู้ป่วยเมื่อมาแจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะสามารถขอใช้กัญชาทางการแพทย์ออกไปได้อีกประมาณ 90-180 วัน ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม  สิ่งสำคัญขอให้รีบมาแจ้งการครอบครอง  เพราะมีความจำเป็นมาก เพื่อให้ได้มีข้อมูล  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการผลิตยาสำรองสำหรับผู้แจ้ง โดยจะมีการหารือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ในเรื่องนี้  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกัญชาเห็นตรงกันว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์ ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ภายใต้พื้นฐานข้อมูลวิชาการและความรู้  แต่ก็เข้าใจดีว่า ก่อนหน้านี้มีการใช้กัญชามาก่อนแล้ว ซึ่งองค์ความรู้ตรงนี้ องค์ความรู้ตรงนี้จึงเป็นประโยชน์มาก และอยากเชิญชวนให้เข้ามาวิจัยร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังคงมีความกังวลเรื่องยาหรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ผลิตไม่เพียงพอ นพ.ธเรศ กล่าวว่า  เรื่องนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือแพทย์ที่ผ่านการรับอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และวัตถุดิบในการผลิต โดยในเชิงบริหารเราก็พิจารณาแล้วว่า ช่วงปลายเดือนวันที่ 29-30 เมษายน 2562 จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ประมาณ 200 คนออกมารุ่นแรก  และทางอย. ก็ได้บอกกับทางกรมการแพทย์ว่า ขอให้เพิ่มการอบรมขึ้นมาอีก อาจทำเป็นอีเลิร์นนิ่งหรืออะไรก็ตาม เพื่อให้มีแพทย์กระจายทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการผลิตกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้น ทาง อภ. คิดว่าจะผลิตได้ในเดือนกรกฎาคมก็จะมีน้ำมันกัญชามาใช้ในกลุ่มนี้ แต่ในกรณีที่จำเป็น อภ.  ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตยาเพื่อความมั่นคงของประเทศด้วยแล้วนั้น ก็จะมีการพิจารณาว่าจะผลิตออกมาล็อตเร่งด่วนก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งจะเผื่อไว้ในกรณีที่คนไหนแจ้งการครอบครองไว้ที่เดือนพฤษภาคมเท่านั้น ก็จะมีการผลิตเพื่อสำรองให้อีกทางหนึ่ง ก่อนรอล็อตการผลิตในเดือนกรกฎาคม

“ส่วนวัตถุดิบไม่ต้องกังวล มีหลายวิธีจะได้มา ทั้งของกลาง ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ก็เคยแจ้งว่ามีคุณภาพหลายเกรด บางเกรดก็ค่อนข้างดี โดยของที่มีคุณภาพดี และเมื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่นั้น หากไม่พบก็นำมาใช้ได้ด้วย  แต่ก็มีอีกวิธีคือ  การนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ก่อนได้ เพื่อบรรเทาระหว่างรอการปลูกการผลิต อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในการนำเข้าวัตถุดิบนั้น ต้องอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมในการพิจารณา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นการทำประโยชน์เพื่อประชาชน โดยคนไหนที่แจ้งการครอบครองถึงแค่เดือนพฤษภาคม และไม่ได้แจ้งเพิ่มก็จะได้มียาใช้ไปก่อนด้วย” เลขาธิการ อย. กล่าว