เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวหลังการประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน โดยกำหนดให้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่วันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 09.00 น.

การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ มีมติงดเว้นการทำไพรมารีโหวต หรือการหยั่งเสียง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานการณ์  วิธีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคให้เสนอชื่อในที่ประชุมวันที่ 15 พฤษภาคม ให้ผู้ประสงค์รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที รวมทั้งตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด คือ อนุกรรมการจัดการประชุมใหญ่ , อนุกรรมการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และอนุกรรมการกำกับวินิจฉัยประกาศผลเลือกตั้ง โดยให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รักษาการเลขาธิการพรรคเป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนองค์ประชุมใหญ่ที่จะมีสิทธิลงคะแนนเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีทั้งหมด 307 คน ประกอบด้วย 19 กลุ่มตามข้อบังคับพรรค แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง ส.ส.ชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา แต่ต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการของ กกต.ก่อน โดยส.ส.ใหม่จะมีน้ำหนัก 70%  ส่วนที่สอง กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า , อดีต ส.ส. , อดีตรัฐมนตรี , อดีตหัวหน้าพรรค , อดีตเลขาธิการพรรค , กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค

กลุ่มหัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด , กลุ่มตัวแทนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชุดล่าสุด ประกอบด้วย ตัวแทนผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 7 คน ตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.เขต 18 คน ซึ่งมีรายชื่อครบแล้ว  ทั้งหมดจะเป็นองค์ประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ส่วนอื่นๆเป็นไปตามข้อบังคับพรรค มีรองหัวหน้าพรรคจากสองส่วน คือ รองหัวหน้าพรรคภารกิจ 8 คน รองหัวหน้าภาค 5 ภาครวม 13 คน

ในการประชุมใหญ่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จะดำเนินการเฉพาะการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งชุดใหม่เท่านั้น ยังไม่มีการตัดสินใจทางการเมืองจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ในส่วนนี้จะเป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ ส.ส.ใหม่เป็นผู้พิจารณา หากมีกรณีที่ต้องตัดสินใจทางการเมือง ต้องประชุมร่วมกับกรรมการบริหารพรรค  ยังไม่สามารถกำหนดเวลาได้

แม้ว่าพรรคจะมีแนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับการร่วมรัฐบาลออกเป็น 2 แนวทาง ถือเป็นเรื่องปกติของความแตกต่างทางความคิด  สุดท้ายพรรคมีกลไกตัดสินคือที่ประชุมร่วม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคมีมติอย่างไร เชื่อว่าสมาชิกจะยอมรับมตินั้น โดยไม่คิดว่าจะมีการแหกคอกเหมือนที่มีการวิเคราะห์ในขณะนี้ ” นายจุรินทร์ กล่าว