เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการพรรการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก การจัดการเลือกตั้ง ว่าที่ผ่านมาว่า มี 11 ที่สุดแห่งการเลือกตั้งที่คนทั่วไปอาจจะมองข้ามหรือยังไม่ทราบ ได้แก่

 

1. เป็นการเลือกตั้งที่ปลอดภัยมากที่สุดในโลก คือมีระบบป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งที่ดีที่สุด ตั้งแต่กระบวนการพิมพ์บัตร ขนหีบบัตร การจ่ายบัตร การเก็บรักษาบัตร การลงคะแนน การนับคะแนน มีขั้นตอนที่รัดกุม ปิดโอกาสที่จะทำให้มีการทุจริตใน การเลือกตั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะบริบทการเมืองไทย มีการแข่งขันกันสูงมาก ผู้แข่งขันมุ่งผลแพ้-ชนะเป็นสำคัญ จึงต้องมีกลไกป้องกันกระบวนการเลือกตั้งและผู้เป็นกรรมการใว้ อาจกล่าวได้ว่าระบบการเลือกตั้งของประเทศไทยมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลกเท่าที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่น

 

2. มีผู้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากที่สุด คือมีกรรมการเขตทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต มีกรรมการประจำหน่วย กปน.ทุกหน่วยเลือกตั้ง 92,300 กว่าหน่วย ยังมีลูกเสืออาสา กกต. ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการพรรคการเมือง ทุกหน่วยเลือกตั้งมีผู้สื่อข่าว องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งทั้งจากในและนอกประเทศอยู่ทั่วไปรวมกว่า 1ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รอคิวในการออกเสียงลงคะแนนและเฝ้าสังเกตการณ์การนับคะแนน เป็นจำนวนมาก

 

3. มีขั้นตอนในการเลือกตั้งที่สลับซ้อนที่สุด คือต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ พรรคเดียวกันในจังหวัดเดียวกันเบอร์ต่างกัน ต้องจ่ายบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า ให้ถูกเขตโดยในแต่หน่วยอาจต้องจ่ายบัตรให้ผู้มีสิทธิทั้ง 350 เขต 350 แบบถ้ามีการลงทะเบียนครบทุกเขตในหน่วยนั้น

 

4. ให้เวลาลงคะแนนมากที่สุดคือให้เวลาลงคะแนน เพิ่มอีก 2 ชั่วโมงจากที่เคยปิดหีบ เวลา 15.00 น. เป็นปิดหีบ 17.00 น.คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กปน.5คน ต้องทำงานตั้งแต่รับบัตรและอุปกรณ์ในการลงคะแนน เปิดหน่วยลงคะแนน ปิดหีบบัตร ตรวจสอบจำนวนบัตรให้ถูกต้องตรงกันเริ่มนับคะแนน ปิดผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ส่งอุปกรณ์ รวมเวลาทำงาน จากรับบัตร จนถึงส่งอุปกรณ์ จากเวลา 05.00 ถึงเวลา 23.00 น.ต้องทำงานติดต่อกันประมาณ 15-18 ชั่วโมง

 

5. มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือมีจำนวนกว่า 51 ล้านคน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

6. มีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้าและในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 กว่า ร้อยละ 79 มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมานับแต่มี รธน.ปี 40

 

7. มีผู้สมัครและพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากที่สุด คือมีพรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 81 พรรคการเมือง ผู้สมัครกว่า12,000คน จากเดิมที่เคยส่งผู้สมัคร 2000-3000 คน มีพรรคการเมืองส่งแค่ 20-30 พรรคการเมือง ด้วยความสลับซับซ้อนของ กม. กกต.ทำให้เกิดงานธุรการเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนเท่าทวี เช่นการพิมพ์บัตร 350 เขต 350 แบบ หนังสือถึงเจ้าบ้าน เป็นต้น

 

8. มีขั้นตอนการประกาศผลที่มากที่สุดคือ หลังเลือกตั้งเสร็จ กกต.ยังไม่อาจประกาศผลได้ทันทีแม้จะประกาศผลคะแนนไปแล้วก็ตาม การประกาศผลต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามที่ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดใว้

 

9. มีการคำนวณการจำนวน ส.ส. แบบบัญชีราย ชื่อที่สลับซับซ้อนที่สุดทั้งนี้ รธน.และ พรป.เลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดวิธีคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับต่างจากกฎหมายฉบับก่อนๆเป็นอย่างมาก

 

10. มีจำนวนเรื่องร้องเรียนการทุจริตการเลือกตั้งน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาครั้งที่ผ่านมา หลังทราบผลคะแแนนจะมีเรื่องร้องคัดค้านเป็นหลักพันหรือหลายพันเรื่อง แต่ครั้งนี้มีเรื่องร้องคัดค้านแค่หลักร้อยเท่านั้นเอง ทั้งที่มีการแข่งขันสูงและมีผู้สมัครและพรรคการเมืองลงสมัครเป็นจำนวนมาก

 

11. มีการกล่าวหา กกต.โดยไม่มีข้อเท็จจริงมากที่สุด คือมีการตั้งข้อสงสัย พยายามกล่าวหา กกต.ว่าจัดการเลือกตั้งไม่โปรงใสโดยมีความพยายามทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเลือกตั้ง แต่ข้อสงสัยและข้อกล่าวหาดังกล่าว กกต.ก็สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ทุกเรื่อง ส่วนมากการกล่าวหาก็ก็ไม่ปรากฏนามผู้กล่าวหา ว่าเป็นผู้ใด เป็นการกล่าวหาใน social แต่ได้นำข้อกล่าวหาตาม social ดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการอื่น

 

ถ้ามีหลักฐานอยู่บ้างตามที่กล่าวหา กกต.คงอยู่ไม่ได้แล้ว กรณีมีหลักฐานว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ก็ชอบที่จะยื่นเรื่องให้ กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จะได้ร่วมมือกันในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ไม่ใช่นำข้อสงสัยดังกล่าวมากล่าวหา กกต.เอง ทั้งที่ปราศจากมูลความจริง