เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 23 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ change.org ได้จัดให้มีการรณรงค์โดยให้ประชาชนร่วมลงชื่อส่งไปยัง “กองทัพบก” ในหัวข้อ “เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ต้องลาออก” โดยระบุข้อความว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” นักเรียนเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ได้เสียชีวิตหลังจากกลับเข้ารับการฝึกที่โรงเรียนนายร้อยได้เพียง 1 วัน โดยทางโรงเรียนได้แจ้งกับทางญาติว่าน้องเมยเสียชีวิตจากสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ทุกๆ ปี นักเรียนนายร้อย และทหารเกณฑ์ จำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตจากวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงของการทัพ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม การซ่อม หรือการ “ธำรงวินัย” นอกจากนี้ ผู้นำระดับสูงของกองทัพ และรัฐบาล ยังได้แสดงทัศนคติต่อเหตุการณ์ดังกล่าวราวกับเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังอ้างว่าน้องเมยเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพของตนเอง ความพยายามของการทัพในการสร้างความชอบธรรมให้กับวัฒนธรรมป่าเถื่อนรุนแรงของตัวเองเช่นนี้ จึงเท่ากับการบอกกับสังคมไทยว่า “น้อยเมยจะไม่ใช่ศพสุดท้าย” และวัฒนธรรมการใช้กำลังภายในกองทัพก็จะยังคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

ในฐานะประชาชนไทย เราไม่ต้องการเห็นลูกหลานของพวกเราที่มีหัวใจรับใช้ชาติต้องประสบกับชะตากรรมดังกล่าว แคมเปญนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนเสียงแห่งความไม่พอใจของประชาชนให้กองทัพนำไปปรับปรุงและพัฒนาองค์กรของตนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และคุณค่าประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. กองทัพจะต้องดำเนินการสอบสวนผู้เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้องเมยอย่างครอบคลุมและโปร่งใสตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชา จนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ

2. ให้มีตัวแทนจากองค์กรอิสระเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดการทุจริต หรือการใช้ความโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพ กองทัพมักจะทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interests) ทำให้สาธารณชนไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่ากระบวนการตรวจสอบของกองทัพโดยกองทัพ จะทำให้ได้ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน

3. เมื่อดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกคนจะต้องลาออกจากราชการ และถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดทั้งในทางวินัย แพ่ง และอาญา โดยต้องไม่มีการปกป้องพวกพ้อง หรืออะลุ่มอะล่วยใดๆ

4. กองทัพจะต้องชดเชยค่าเสียหาย และค่าเยียวยาจิตใจ ให้กับครอบครัวของเหยื่ออย่างครอบคลุม

5. ยกเลิกมาตรการการ “ธำรงวินัย” ที่ใช้ความรุนแรง และหามาตรการอื่นที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยในชีวิตของผู้รับการฝึก

ทั้งนี้ เราเชื่อว่าการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวจะเป็นสร้างบรรทัดฐาน และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทางกองทัพ และประเทศชาติได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ได้มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 4000 คน แล้วเมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 23 พ.ย.

 

Cr. ข่าวสด