เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.62 น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง พร้อมนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ร่วมเปิดการใช้ช่องทางการรับชำระเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ครั้งแรกในปี 2560 ประเภทบัตรแมงมุม เวอร์ชั่น 2.0 , 2.5 จำนวน 1.3 ล้านราย

และผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมในปี 2561 ประเภทบัตร Contactless (EMV 4.0) จำนวน 1.6 แสนราย รวมทั้งสิ้น 1.46 ล้านราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม จ.สมุทรปราการ และจ.สมุทรสาคร โดยมีวงเงินในบัตรฯ เพื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะเดือนละ 500 บาท

น.ส.สุทธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ผู้ถือบัตรฯ ทั้ง 1.46 ล้านราย สามารถนำบัตรฯ ไปซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS ผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารฯ บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ทุกสถานี จำนวน 43 สถานี เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.

โดยเป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ถือบัตรฯ อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการเดินทางและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน นอกเหนือจากการใช้บัตรฯ ชำระค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) และรถไฟฟ้า (รฟม.) ทั้งสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ที่ได้ให้บริการมาก่อนแล้ว

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อการเดินทางนั้น ผู้ถือบัตรฯ ที่ได้รับบัตรแมงมุม และบัตร Contactless จะได้รับวงเงินค่าโดยสารรถเมล์ (ขสมก.) รถไฟฟ้า (รฟม.) รถไฟฟ้า (BTS) จำนวนเงิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อมีการใช้จ่ายไปจำนวนเท่าใด รัฐบาลก็จะเติมวงเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ถือบัตรฯ ได้ใช้จ่ายไป เพื่อให้มีเงินวงเงินไว้ใช้จ่ายเต็มจำนวน 500 บาท ทุกเดือน

 

ภาพและข้อมูลจาก Khaosod