เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ตามที่ได้ศึกษาเนื้อหา ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ซึ่งทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะสรุปเตรียมจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ในเร็ว ๆ นี้ เห็นว่า ร่างแก้ไขดังกล่าวยังมีจุดที่น่าจะเป็นปัญหา เพราะยังไม่ได้แก้ไขประเด็นใหญ่ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการทำการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ทำเกษตรและมีวิถีชีวิตในการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ เพราะมีโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ต้องเข้าใจระบบก่อนว่า ชาวนามีการเก็บและพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เอง ทำให้เกิดพันธุ์ดี ๆ เช่น ข้าวเสาไห้ หรือข้าวสังข์หยด แต่การพัฒนาโดยชาวนาจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ระบบบริษัทที่จะมีการขึ้นทะเบียนรับรอง หากกฎหมายมีผล นอกจากจะไม่สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์แล้ว ยังกำหนดโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ ยังคงมาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าว เป็นประเด็นที่มี conflic of interest เพราะกรมการข้าวเป็นผู้คุมเงินงบประมาณ เป็นผู้วิจัย และเป็นผู้รับรองตัวเอง และปัญหาเรื่องการกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นของกรมการค้าภายใน และการให้อำนาจนี้เสี่ยงต่อประเด็นการเรียกรับ (การทำมาหากิน) ของเจ้าหน้าที่ ทำเสมือนว่าโรงสีที่ทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบอาชญากรรม ซึ่งเท่าที่เห็นร่างนี้ก็ยังคงอยู่

นอกจากนี้ องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการด้านการผลิต และคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ยังไม่ครบถ้วน ขาดในส่วนของผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรงสี/ผู้ส่งออก เน้นแต่ข้าราชการโดยตำแหน่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการครอบงำการทำงานได้ อีกทั้งในกระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการด้านงบประมาณ และไม่มีประเด็นเรื่องการตรวจสอบติดตามการทำงานเลย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่แก้ไขแล้วดีขึ้นจากร่างก่อน คือ การตัดมาตราเรื่องอำนาจหน้าที่ของกรมการข้าวออก พร้อมทั้งยกระดับอำนาจของกรมการข้าว และกรมการค้าภายในให้เท่ากัน โดยมีทั้งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นฝ่ายเลขานุกรม และตัดมาตรา 22-26 ซึ่งเป็นเรื่องการดูแลการผลิตออกไป และยกเลิกแผนการพยากรณ์ราคาข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำได้ออกไป