เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากผลการรายงานของ“เว็บไซต์ Numbeo” ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดเผยฐานข้อมูลฟรี เกี่ยวกับค่าครองชีพของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เปิดเผยตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยออกมาว่า เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน!!!! (น้อยกว่าสิงคโปร์ที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งลำดับเดียว)

โดยประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกอยู่ที่เดือนละ 2.1 หมื่นบาท เฉลี่ยมาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องแต่งกาย การเดินทาง ร้านอาหาร การกีฬา สาธารณูปโภค การดูแลเด็ก ความบันเทิง ที่อยู่อาศัย ฯลฯ (ดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://www.numbeo.com/cost-of-living/in/Bangkok)

เรื่องค่าครองชีพของคนไทยนั้น เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากเกินกว่าที่จะปล่อยปละละเลยมันไปได้ จะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็ใช่ว่าจะเกิดผลดี เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและส่งผลกระทบกับเราในทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปากท้อง ไปจนถึงเรื่องส่งลูกส่งหลานไปเรียน

นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นลำดับต้น ๆ ของคนไทย รวมไปถึงเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ทรุดตัวต่ำลงเรื่อย ๆ

ตัวเลขเหล่านี้คือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนทั้งประเทศจริง ๆ เพราะระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยให้ตายยังไงก็หนีไม่พ้นเมืองศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร ฉะนั้นแล้ว เมื่อค่าครองชีพของคนเมืองสูงขึ้น ก็ย่อมต้องมีผลกระทบกระจายไปสู่ภูมิภาคเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว อย่างที่เรามีคำเปรียบเทียบว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว(Butterfly Effect)

เมื่อลองพิจารณาดูดี ๆ แล้ว เราจะพบว่าในตัวเลขค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่วของชาวกรุงเทพ ที่อยู่ที่ 2.1หมื่นบาทนั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงอะไรเมื่อเทียบกับประเทศเจ้าของค่าครองชีพอันดับหนึ่งของอาเซียน ซึ่งก็คือสิงคโปร์ ที่มีดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 91.40 ส่วนเมืองไทยดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 48.91 เพราะว่ามันมากกว่าเป็นเท่าตัวเลย!

แต่ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งต่างหากที่เป็นตัวแปรสำคัญที่เราอาจจะลืมสังเกตไป นั่นก็คือ “รายได้เฉลี่ย”

รายได้เฉลี่ยของประเทศสิงคโปร์ที่ค่าครองชีพแพงกว่าคนกรุงเทพฯ นั้น ก็มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ถึง 290.29% (คนกรุงเทพฯมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 24,755 บาท)

นั่นหมายถึงความสอดคล้องกันของการดำเนินชีวิตประจำวัน ว่าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีแค่ไหน ในเมืองที่เราอาศัยอยู่ เพราะถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะมีรายจ่ายที่มากกว่าเราเป็นเท่าตัวก็จริง แต่รายได้ของพวกเขาก็สูงกว่าเรานำลิ่วอยู่เหมือนกัน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็เราก็คงจะต้องย้อนกลับมาถามที่ตัวเราเองว่า ในเมื่อค่าครองชีพสูงขนาดนี้ แต่รายได้กลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ในท่ามกลางระบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ว่า เราควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร? ให้เหมาะสมกับมาตรฐานชีวิตที่เราควรจะได้รับ

นั่นเป็นคำถามที่ดูเหมือนว่าคนเมืองกรุงน่าจะต้องตอบตัวเองให้ได้