เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ไม่กี่วันมานี้เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็น #SaveRalph ผ่านหูผ่านตาในโลกออนไลน์กันมาบ้าง ว่าแต่มันคืออะไร ทำไมใครๆ ต่างก็พูดถึงกันนะ…

Save Ralph เป็นแคมเปญระดับโลกจาก Humane Society International (HSI) หรือ สมาคมมนุษยธรรมนานาชาติ ที่ร่วมมือกับผู้กำกับและนักแสดงฮอลลีวูดในการสร้างสรรค์แอนิเมชันแบบสต๊อปโมชันเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์ โดยหนังสั้นเรื่องนี้ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้หนังสั้นเรื่องนี้ได้รับความสนใจคือ มีผู้ใช้ TikTok หลายคนออกมาสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับการแต่งหน้าโดยใช้เครื่องสำอางที่สิ้นเปลือง เช่น การเทรองพื้นในปริมาณมากลงบนใบหน้า เป็นต้น ทำให้หลายคนเห็นแล้วนึกถึงหนังสั้นเรื่อง Save Ralph และมีการตัดสลับระหว่างการใช้เครื่องสำอางที่เยอะกับหนังสั้นที่มีสัตว์ถูกทรมานจากการทดลองกับเครื่องสำอาง

หนังสั้นเรื่อง Save Ralph เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวันของเจ้ากระต่ายที่ชื่อว่า ราล์ฟ (Ralph) พากย์เสียงโดย Taika Waititi แบบสารคดีตามติดชีวิตราล์ฟในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ใช้กระต่ายในการทดลองเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ยาสระผม สบู่ และ ครีมกันแดด เป็นต้น

(Taika Waititi : ผู้พากย์เสียงราล์ฟ)

ร่างกายของราล์ฟเสียหายไปกับการทดลองเหล่านี้ เช่น การหยดสารเคมีเข้าตาจนทำให้ตาขวามองไม่เห็น หูขวาไม่ได้ยิน ผิวที่ถูกโกนขนออกไปเพื่อทดลองสารเคมีจนทำให้เขาทรมาน พิการ และตายในที่สุด

นอกจากราล์ฟแล้ว พี่น้องกระต่ายตัวอื่นๆ ก็โดนเช่นกัน โดยราล์ฟเล่าว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเขา การเกิดมาเป็นสัตว์ทดลองและถูกทดลองทำให้เขามีความสุข เขาพูดทั้งน้ำตาก่อนที่จะถูกนำตัวไปทดลองอีกครั้ง ประโยคหนึ่งจากหนังสั้นเรื่องนี้ที่ชวนให้มนุษย์ทุกคนได้ฉุกคิดมากที่สุดคือ

“No animal should suffer and die in the name of beauty”

(ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนต้องทนทุกข์ทรมานและตายในนามของความงาม)

หากเราจะมองว่าการทดลองในสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่อดีตแล้ว การสร้างผลิตภัณฑ์เคมีที่มนุษย์ใช้กันต้องผ่านการทดลองกับคนและสัตว์ ทั้งเครื่องสำอางและยารักษาโรค ก่อนที่จะนำมาให้มนุษย์ใช้ได้อย่างปลอดภัย หากแต่ ในปัจจุบันเราสามารถทดลองกับเนื้อเยื่อบางชนิดแทนได้ แม้ว่าเนื้อเยื่อเหล่านั้นจะไม่สามารถใช้แทนสิ่งมีชีวิตจริงๆ ได้ แต่ก็มีแบรนด์เครื่องสำอางกว่า 2,000 แบรนด์ และกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์แล้ว

ในมุมมองของนักวิจัยหลายท่านได้บอกว่า การทดลองกับสัตว์ในปัจจุบันไม่ได้ทำงานเหมือนสมัยก่อน เพราะต้องคำนึงถึงกฎหลายข้อซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระดับนานาชาติ ได้แก่

1. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ โดยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการใช้สัตว์เป็นประโยชน์จำเป็นสูงสุดและไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเท่าหรือเหมาะสมกว่าในสภาวการณ์ขณะนั้น

2. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงความแม่นยำของผลงานโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด

3. การใช้สัตว์ป่าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า

4. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ มีความรู้สึกเจ็บปวด และมีความรู้สึกตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยงเทคนิคการเลี้ยง การปฏิบัติต่อสัตว์โดยไม่ให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด ความเครียด หรือความทุกข์ทรมาน

5. ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน ตรงตามวิธีการที่เสนอไว้ในโครงการ และพร้อมที่จะเปิดเผยหรือชี้แจงได้ทุกโอกาส

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ทุกคนในฐานะผู้บริโภคก็สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากความโหดร้ายหรือไม่

วิธีการสังเกตแบรนด์เครื่องสำอางที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ คือ แบรนด์ที่มีคำว่า Cruelty-free หรือ Not Tested in Animals (เครื่องสำอางที่ปราศจากความโหดร้าย หรือ ไม่มีการทดลองกับสัตว์ ตรวจสอบได้ที่ : crueltyfree.peta.org )